วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รวยบุญจากการให้.

     ๑. การให้ทาน

     การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้น จะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ ๓ ประการ ถ้าประกอบหรือถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ



      องค์ประกอบข้อ ๑. "วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์"
      วัตถุทานที่ให้ ได้แก่สิ่งของทรัพย์สมบัติที่ตนได้สละให้เป็นทานนั้นเอง จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ได้มาโดยทุจริต ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฯลฯ

      ตัวอย่าง ๑ ได้มาโดยการเบียดเบียนชีวิตเลือดเนื้อสัตว์ เช่นฆ่าสัตว์ต่างๆ เป็นต้นว่า ปลา โค กระบือ สุกร โดยประสงค์จะนำเอาเลือดเนื้อของเขามาทำอาหารถวายพระ เพื่อเอาบุญ ย่อมเป็นการสร้างบาปเอามาทำบุญ วัตถุทาน คือเนื้อสัตว์นั้น เป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ แม้ทำบุญให้ทานไป ก็ย่อมได้บุญน้อย จนเกือบไม่ได้อะไรเลย ทั้งอาจจะได้บาปเสียอีกหากว่าทำทานด้วยจิตที่เศร้าหมอง แต่การที่ได้เนื้อสัตว์มา โดยการซื้อหาจากผู้อื่นที่ฆ่าสัตว์นั้น โดยที่ตนมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการฆ่าสัตว์ก็ดี เนื้อสัตว์นั้นตายเองก็ดี เนื้อสัตว์นั้นย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำทานย่อมได้บุญมากหากถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบข้ออื่นๆด้วย

      ตัวอย่าง ๒ ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์รวมตลอดถึงการทุจริตฉ้อราษฏร์บังหลวง อันเป็นการได้ทรัพย์มาในลักษณะไม่ชอบธรรม หรือโดยเจ้าของเดิมไม่เต็มใจให้ทรัพย์นั้นย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ เป็นของร้อน แม้จะผลิดอกออกผลมาเพิ่มเติม ดอกผลนั้นก็ย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ด้วย นำเอาไปกินไปใช้ย่อมเกิดโทษ เรียกว่า "บริโภคด้วยความเป็นหนี้" แม้จะนำเอาไปทำบุญ ให้ทาน สร้างโบสถ์วิหารก็ไม่ทำให้ได้บุญแต่อย่างใด สมัยหนึ่ง ในรัชกาลที่๕ มีหัวหน้าสำนักนางโลมชื่อว่า "ยายแฟง" ได้เรียกเก็บเงินจากหญิงโสเภณีในสำนักของตนจากอัตราที่ได้มาครั้งหนึ่ง ๒๕ สตางค์ แกจะชักเอาไว้ ๕ สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้จนได้ประมาณ ๒,๐๐๐ บาท แล้วจึงจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งด้วยเงินนั้นทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จแล้วแกก็ปลื้มปีติ นำไปนมัสการถามหลวงพ่อโตวัดระฆังว่า การที่แกสร้างวัดทั้งวัดด้วยเงินของแกทั้งหมดจะได้บุญบารมีอย่างไร หลวงพ่อโตตอบว่า ได้แค่ ๑ สลึง แกก็เสียใจ เหตุที่ได้บุญน้อยก็เพราะทรัพย์อันเป็นวัตถุทาน ที่ตนนำมาสร้างวัดอันเป็นวิหารทานนั้น เป็นของที่แสวงหาได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ เพราะเบียดเบียนมาจากเจ้าของที่ไม่เต็มใจจะให้ ฉะนั้น บรรดาพ่อค้าแม่ขายทั้งหลาย ที่ซื้อของถูกๆ แต่ขายแพงๆ จนเกินส่วนที่ควรจะได้ ผลกำไรที่ได้มาเพราะความโลภจัดจนเกินส่วนนั้นย่อมเป็นสิ่งของที่ไม่บริสุทธิ์โดยนัยเดียวกัน

      วัตถุทานที่บริสุทธิ์ เพราะการแสวงหาได้มาโดยชอบธรรมดังกล่าว ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นของดีหรือเลย ไม่จำกัดว่าเป็นของมากหรือน้อย น้อยค่าหรือมีค่ามาก จะเป็นของดี เลว ประณีต มากหรือน้อยไม่สำคัญ ความสำคัญขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานนั้น ตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาที่ตนมีอยู่

      องค์ประกอบข้อ ๒. "เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์"
      การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่น ความหวงแหน หลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ "โลภกิเลส" และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วยเมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตาพรหมวิหารธรรมในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว เรียกว่าเจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น ถ้าจะบริสุทธิ์จริงจะต้องสมบูรณ์พร้อมกัน ๓ ระยะ คือ

      (๑) ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะให้ทานก็มีจิตโสมนัส ร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สิ่งของของตน
      (๒) ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังลงมือทำทานอยู่นั้นเอง ก็ทำด้วยจิตโสมนัสร่าเริงยินดีและเบิกบานในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
      (๓) ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้นๆ

      เจตนาบริสุทธิ์ในการทำทานนั้น อยู่ที่จิตโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ทำนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องมาจากเมตตาจิตที่มุ่งสงเคราะห์ผู้อื่น ให้พ้นความทุกข์และให้ได้รับความสุข เพราะทานของตน นับว่าเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น แต่เจตนาที่บริสุทธิ์เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ จะทำให้ยิ่งๆ บริสุทธิ์มากขึ้นไปอื่นหากผู้ให้ทานนั้นได้ทำทานด้วยวิปัสสนาปัญญา กล่าวคือไม่ใช่ทำทานอย่างเดียว แต่ทำทานพร้อมกับมีวิปัสสนาปัญญา โดยใคร่ครวญถึงวัตถุทานที่ให้ทานนั้นว่า อันบรรดาทรัพย์สิ่งของทั้งปวงที่ชาวโลกนิยมยกย่องหวงแหนเป็นสมบัติกันด้วยความโลภนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงแต่วัตถุธาตุประจำโลก เป็นสมบัติกลาง ไม่ใช่ของผู้ใดโดยเฉพาะ เป็นของที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดขึ้นมา และไม่ว่าเราจะเกิดขึ้นมาหรือไม่ก็ตาม วัตถุธาตุดังกล่าวก็มีอยู่เช่นนั้น และได้ผ่านการเป็นเจ้าของของผู้อื่นมาแล้วหลายชั่วคน ซึ่งท่านแต่ก่อนนั้น ต่างก็ได้ล้มหายตายจากไปทั้งสิ้น ไม่สามารถนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลย จนในที่สุดก็ได้ตกทอดมาถึงเรา ให้เราได้กินได้ใช้ได้ยึดถือเพียงชั่วคราว แล้วก็ตกทอดสืบเนื่องไปเป็นของคนอื่นๆ ต่อๆไปเช่นนี้ แม้เราเองก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้ จึงนับว่าเป็นเพียงสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น ไม่จากไปในวันนี้ก็ต้องจากไปในวันหน้า อย่างน้อยเราก็ต้องจากต้องทิ้งเมื่อเราได้ตายลง นับว่าเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นว่านั่นเป็นของเราได้ถาวรตลอดไป แม้ตัววัตถุธาตุดังกล่าวนี้เอง เมื่อมีเกิดขึ้นเป็นตัวตนแล้ว ก็ตั้งอยู่ในสภาพนั้นให้ตลอดไปไม่ได้ จะต้องเก่าแก่ ผุพัง บุบสลายไป ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนแต่อย่างไร แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของเราเองก็มีสภาพเช่นเดียวกับวัตถุธาตุเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจจะตั้งมั่นให้ยั่งยืนอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวแล้วก็เฒ่าแก่และตายไปในที่สุด เราจะต้องพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก ที่หวงแหน คือทรัพย์สมบัติทั้งปวง

      เมื่อเจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ผุดผ่องดีพร้อมทั้งสามระยะดังกล่าวมาแล้ว ทั้งยังประกอบไปด้วยวิปัสสนาปัญญาดังกล่าวมาแล้วด้วย เจตนานั้นย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทานที่ได้ทำไปนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญมากหากวัตถุทานที่ได้ทำเป็นของที่บริสุทธิ์ตามองค์ประกอบข้อ ๑ ด้วย ก็ย่อมทำให้ได้บุญมากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก วัตถุทานจะมากหรือน้อย เป็นของเลวหรือประณีตไม่สำคัญ เมื่อเราได้ให้ทานไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ย่อมใช้ได้ แต่ก็มีข้ออันควรระวังอยู่ ก็คือ การทำทานนั้นอย่างได้เบียดเบียนตนเอง เช่นมีน้อย แต่ฝืนทำให้มากๆ จนเกินกำลังของตนที่จะให้ได้ เมื่อได้ทำไปแล้ว ตนเองและสามี ภริยา รวมทั้งบุตรต้องลำบาก ขาดแคลน เพราะไม่มีจะกิน จะใช้ เช่นนี้ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง แม้วัตถุทานจะมากหรือทำมาก ก็ย่อมได้บุญน้อย ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ คือ

      ตัวอย่าง ๑ ทำทานเพราะอยากได้ ทำเอาหน้า ทำอวดผู้อื่น เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาลใส่ชื่อของตน ไปยืนถ่ายภาพลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อให้ได้รับความนิยมยกย่องนับถือ โดยที่แท้จริงแล้วตนมิได้มีเจตนาที่จะมุ่งสงเคราะห์ผู้ใด เรียกว่าทำทานด้วยความโลภ ไม่ได้ทำเพื่อขจัดความโลภ ทำทานด้วยความอยากได้ คืออยากได้หน้า ได้เกียรติ ได้สรรเสริญ ได้ความนิยมนับถือ

      ตัวอย่าง ๒ ทำทานด้วยความฝืนใจ ทำเพราะเสียไม่ได้ ทำด้วยความเสียดาย เช่นมีพวกพ้องมาเรี่ยไร ตนเองไม่มีศรัทธาที่จะทำ หรือมีศรัทธาอยู่บ้าง แต่ทรัพย์น้อย เมื่อมีพวกมาเรี่ยไรบอกบุญ ต้องจำใจทำทานไปเพราะความเกรงใจพวกพ้อง หรือเกรงว่าจะเสียหน้า ตนจึงได้สละทรัพย์ทำทานไปด้วยความจำใจ ย่อมเป็นการทำทานด้วยความตระหนี่หวงแหน ทำทานด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ทำทานด้วยจิตเมตตาที่มุ่งจะสงเคราะห์ผู้อื่น ซึ่งยิ่งคิดก็ยิ่งเสียดาย ให้ไปแล้วก็เป็นทุกข์ใจ บางครั้งนึกโกรธผู้ที่มาบอกบุญ เช่นนี้จิตย่อมเศร้าหมอง ได้บุญน้อย หากเสียดายมากๆ จนเกิดโทสจริตกล้าแล้ว นอกจากจะไม่ได้บุญแล้ว ที่จะได้ก็คือบาป

      ตัวอย่าง ๓ ทำทานด้วยความโลภ คือทำทานเพราะอยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น เป็นนี่ อันเป็นการทำทานเพราะหวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ทำทานเพราะมุ่งหมายที่จะขจัดความโลภ ความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ของตน เช่น ทำทานแล้วตังจิตอธิษฐานขอให้ชาติหน้าได้เป็นเทวดา นางฟ้า ขอให้รูปสวย ขอให้ทำมาค้าขึ้น ขอให้ร่ำรวยนับล้าน ขอให้ถูกสลากกินแบ่งสลากกินรวบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมบัติสวรรค์ หากชาติก่อนไม่เคยได้ทำบุญใส่บาตรฝากสวรรค์เอาไว้ อยู่ๆก็มาขอเบิกในชาตินี้ จะมีที่ไหนมาให้เบิก การทำทานด้วยความโลภเช่นนี้ ย่อมไม่ได้บุญอะไรเลย สิ่งที่จะได้พอกพูนเพิ่มให้มากขึ้นและหนาขึ้น ก็คือ "ความโลภ"

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

พระครูพิศาลธรรมภาณี บ้านเชียง อานิสงค์ของการรักษาศีล

                                                         พระครูพิศาลธรรมภาณี

พระอุโบสถทรงดอกบัวกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
                                                                วิถีแห่งความสุข

อานิสงค์ของการรักษาศีล
ด้วยในฐานะที่เป็นชาวพุทธ  นับถือพระพุทธศาสนาเป็นธรรมเนียม  เป็นประเพณี  ในงานพิธีต่างๆ แม้จะให้ทาน  ขึ้นบ้านใหม่  เป็นต้น  ต้องมีการใหว้พระสมาทานศีลก่อนทุกครั้ง  แต่บางท่านก็ยังไม่เข้าใจถึงอานิสงค์ของศีล  ที่ตนสมาทาน และรักษาให้ด่างพร้อย  นั้นอานิสงค์ที่จะได้รับมีอะไรบ้าง
           
ธรรมะก่อนจากของฝากจากใจ
เรื่อง  อานิสงค์ของการรักษาศีล 
วันนี้ธรรมะก่อนจากก็จะได้ฝากของดี  คือศีล  คือธรรม  ญาติโยมรักษาศีลมามาก  บางคนก็ตลอดชีวิต  แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามันนได้อานิสงค์อะไรบ้าง  จะได้รับประโยชน์อย่างไร  วันนี้ก่อนจากก็ฝากเรื่องอานิสงค์ขของศีล  เอาแค่ศีลห้าก็พอ  ไม่ต้องถึงศีลแปดหรอก
            อานิสงค์ของการรักษาศีลข้อที่ 1 (เว้นจากการฆาสัตว์)  มีถึง 23 อย่าง คือ
1.           ทำให้เป็นผู้ที่มีอวัยวะหรือมีอาการ 32 ครบบริบูรณ์  ไม่ขาด  ไม่เกิน ไม่พิการ
2.           เป็นผู้มีร่างกาย  ทรวดทรงสวยงาม  ได้สัดส่วนทั้งสูงและก็งามด้วย
3.           เป็นผู้ที่มีความคล่องแคล่ว  ว่องไว ไม่อุ้ยอ้ายเชื่องช้า
4.           เป็นผู้ที่มีเท้าตั้งไว้ในฐานที่ดี  ตั้งอยู่สวยงาม  ไม่บิดเบี้ยว ไม่พลิกไม่แพลง
5.           เป็นผู้สดใสและรุ่งเรื่องมีผิวพรรณสดใส  จิตใจเบิกบาน
6.           เป็นคนสะอาดผิวพรรณวรรณะสะอาดผ่องใส
7.           เป็นนคนอ่อนโยน  อ่อนน้อมถ่อมตน  นิสัยดี
8.           เป็นคนที่มีความสุขในชีวิต  ใครได้อยู่ไกล้ก็มีความสุข
9.           เป็นคนแกล้วกล้า  ไม่ขี้กลัว ไม่ขี้ขาด
10.  เป็นคนที่มีกำลังมาก  แข็งแรงมาก  เหมือนนางวิสาขา  เอวบางร่างเล็กแต่มีกำลังเท่าช้าง 3 เชือก
11.  เป็นผู้มีถ้อยคำสละสลวย  อ่อนหวาน  สมานสามัคคี  มีประโยชน์ ฟังแล้วไพเราะหู
12.  มีลูกหลาน  เพื่อนฝูง  ญาติมิตร  พี่น้อง  บริวาร ก็จะไม่พลัดพราก ไม่ตีจาก
13.  เป็นคนไม่ตกใจง่าย  มีสติ สงบเสงี่ยม  เชื่อมั่นในตัวเองสูง
14.  ข้าศึกศัตรูทำร้ายไม่ได้
15.  ไม่ตายเพราะถูกจองล้าง  จองผลาญ  ไม่ตายเพราะถูกฆาตกรรม  หรืออุบัติเหตุ  แต่ตายเพราะแก่ชรา
16.  มีบริวารมาก  หาที่สุดไม่ได้  ไปใหนมีแต่คนต้อนรับ
17.  เป็นคนมีรูปสวย รูปงาม
18.  มีร่างกายสมส่วนจะสูงบ้าง  ต่ำบ้าง แต่ก็สมส่วน ได้ทรวดทรง
19.  มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนน้อยมาก  ไม่ค่อยมีโรคภัย  ไม่เป็นคนขี้โรค
20.  ไม่มีเรื่องที่ทำให้เสียใจ  เช่น ลูก  สามี  ภรรยา  ญาติพี่น้อง  ลูกน้องทำไม่ดี  ทำให้เสียใจบ่อยๆจะไม่ค่อยมี
21.  เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ไปที่ใหนก็มีแต่คนรักใคร่พอใจ  มีแต่คนต้อนรับ  อยากเป็นญาติ  อยากเป็นพี่เป็นน้อง  ถ้าเป็นคนโสดไปที่ใหนก็มีแต่คนอยากจะแต่งงานด้วย
22.  จะเป็นคนไม่ค่อยได้พลัดพรากจากของรักของชอบใจ  คือ ลูก หลาน ภรรยา  สามี ก็ไม่ค่อยได้พลัดพราก  ไม่ตายจาก  เว้นแต่ตัวเองจะจากเขาไปก่อน  มีสิ่งของก็ไม่สูญไม่หาย
23.  เป็นคนอายุยืน
อานิสงค์ของการรักษาศีลข้อที่ 2 (เว้นจากการลักทรัพย์)  มี 11 อย่างคือ
1.           ทำให้มีทรัพย์มาก  มีทองมาก
2.           มีข้าวปลาอาหารที่เพียงพอ  บริบูรณ์  ไม่ขาดเขิน  พออยู่พอใช้ไม่อดไม่อยาก
3.           หาทรัพย์ได้ไม่มีที่สิ้นสุด  ไม่ว่าจะค้าขายอะไร  จะมีพรัพย์สินมาใช้จ่ายไม่มีที่สิ้นสุด
4.           พรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็จะได้  เช่น  ทรัพย์สินที่ถูกยืมไปที่ยังไม่ได้คืนก็จะได้คืน
5.           ทรัพย์ที่ได้ไว้จะยั่งยืน  มีเงิน มีทอง  มีข้าวมีของก็อยู่กับเราได้นาน  ไม่ใช่แค่ผ่านมือ
6.           หาสิ่งที่ตนเองปรารถนาได้โดยเร็วทันใจ
7.           สมบัติไม่กระจัดกระจาย  มีเงินทองข้าวของก็ไม่ถูกโกง  ไม่ถูกขโมย  ไม่ถูกน้ำท่วม  ไม่ถูกไฟไหม้  ไม่ถูกยึดทรัพย์
8.           หาทรัพย์ได้โดยไม่ต้องถูกแบ่ง  ไม่ต้องเฉลี่ยกับใคร
9.           เป็นผู้ที่มีสิทธิ์จะได้โลกุตตระทรัพย์  ทรัพย์คือโลกุตตระธรรมที่หนือโลก  อันได้แก่  มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1ชึ่งเป็นทรัพย์อันสูงสุด
10.  ไม่เคยรู้ไม่เคยได้ยินคำว่า  ไม่มี  เหมือนท่านพระอนุรุทเถระ
11.  ไปที่ใหนก็สุขกายยสบายใจ
อานิสงค์ของการรักษาศีลข้อที่ 3 (เว้นจากการประพฤติผิดในกาม)  มี 20 อย่าง  คือ
1.           ไปที่ใหนก็ไม่มีข้าศึกศัตรู
2.           เป็นที่รักของคนทั่วไป
3.           หาข้าวน้ำ  เครื่องนุ่งห่มได้ง่าย ไม่ลำบาก
4.           เวลานอนหลับก็มีความสุข  ไม่สะดุ้ง  ไม่ฝันร้าย
5.           เวลาตื่นก็สุขสดชื่น  แจ่มใส เบิกบาน
6.           พ้นภัยในอบายทั้งโลกนี้และโลกหน้า  โลกนี้คือ  พ้นจากสิ่งที่เสื่อม เช่น อบายมุข 6 (ทางแห่งความเสื่อม) ชึ่งเปรียบด้วย ผี 6ตัว  คือ  ผีตัวที่หนึ่งชอบดื่มสุราและเสพยาบ้าเป็นอาจิณ  ไม่ชอบกินข้าวปลาอาหาร  ผีตัวที่ 2 คือ ชอบเทียวยามวิกาล ไม่รักบ้านรักลูกเมียตน  ผีตัวที่ 3 ชอบดูการละเล่น  ไม่ละเว้นบาร์คลับละครโขน  ผีตัวที่ 4 คบคนชั่วมั่วกับโจรหนีไม่พ้นอาญาตราแผ่นดิน  ผีตัวที่ 5 ชอบเล่นม้ากีฬาบัด  สารพัดการพนันถั่วโปไฮโลสิ้น  ผีตัวที่ 6 เกียจคร้านการทำกิน  มีทั้งสิ้น 6 ผีอัปรีย์เอย  นี้คืออบายมุข 6 ในโลกนี้
ส่วนในโลกหน้าคือ เมือเราจากโลกนี้ไป เราจะไม่ตกไปสู่อบายภูมิทั้ง 4 คือ ไม่เกิดเป็นเปรต  เป็นอสูรกาย  เป็นสัตว์เดรัจฉาน  พร้อมทั้งไม่ไปเกิดในนรก
7.           ไม่ต้องเกิดเป็นผู้ผิดแปลก  ไม่ต้องเกิดเป็นกะเทย  เป็นทอม  เป็นดี้  เป็นเกย์  เป็นตุ๊ด
8.           เป็นคนไม่โกรธง่ายไม่ฉุนเฉียวขี้หงุดหงิด  ขี้งอน
9.           ทำอะไรทำได้โดยเรียบร้อย  ไม่ขัดข้อง
10.  ทำอะไรโดยเปิดเผย  โปร่งใส  ไม่ซ่อนเร้น  ลับ ลวง พราง
11.  เป็นผู้สง่าผ่าเผย  ไม่ว่าไปที่ใหน  ยามเข้าสู่ที่ชุมนุมชน  ถ้าเป็นหญิงก็เหมือนนกยุงเหมือนหงส์  หากเป็นชายก็เหมือนราชสีห์  องอาจแกล้วกล้า
12.  เป็นผู้มีหน้าปกติ  ไม่ว่า  จะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ไม่งอ ไม่หงิก  หน้าบึ้งตรึง
13.  มีแต่เพื่อนรัก  ญาติมิตรก็รัก  ไปที่ใหนมีแต่คนรัก
14.  มีอินทรีย์บริบูรณ์  มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บริบูรณ์  ไม่ขาดไม่บกพร่อง  หรือมีศรัทธา  มีความเพียร  มีสติ มีสมาธิ  มีปัญญาบริบูรณ์
15.  มีลักษณะบริบูรณ์  คือร่างกาย  สมสัดส่วน สมบูรณ์  พอดีไม่อ้วน  ไม่ผอมเกินไป  ไม่สูงไม่เตี้ย  ได้ทรวดทรงพอดีพองาม
16.  ไปที่ใหนก็ไม่มีคนรังเกียจ
17.  ขนขวยน้อนไม่เหน็ดเหนื่อย  ไม่ต้องออกแรง อะไรมากก็มีทรัพย์มีสมบัติ
18.  อยู่ที่ใหนก็เป็นสุข
19.  ไม่กลัวภัยจากใครๆ คือไม่เกรงกลัวภัยจากใครทั้งนั้นไม่ว่าคนหรือสัตว์  มิตรหรือศัตรู  เป็นผู้มีความองอาจ กล้าหาญ
20.  จะไม่พลัดพรากจากของรักของชอบทั้งสิ้น
อานิสงค์ของการรักษาศีลข้อที่ 4 (เว้นจากการพูดเท็จ  พูดคำหยาบ  พูดเพ้อเจ้อ  พูดส่อเสียด) มี 14 อย่าง คือ
1.           เป็นผู้ที่มีอินทรีย์ผ่องใส  คือ มีผิวพรรณ วรรณะผ่องใส  ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง
2.           มีวาจาอันไพรเราะเสนาะโสต  สละสลวย
3.           มีไรฟันชิดสนิทเสมอกัน  ฟันขาวบริสุทธิ์
4.           ไม่อ้วยเกินไป
5.           ไม่ผอมเกินไป
6.           ไม่ต่ำเกินไป
7.           ไม่สูงเกินไป
8.           มีสัมผัสเป็นที่สบาย  คือไม่ว่าจะสัมผัสอะไรก็สบาย  กินอาหารก็อร่อย  ได้เห็นทางตา  ได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก  ได้รับรสทางลิ้น  ได้ถูกต้องสัมผัสทางกาย  ได้รับรู้อารมณ์ทางใจก็สบาย  คือเป็นผู้มีสัมผัสที่ดี
9.           มีปากหอมเหมือนดอกบัว  หอมโดยธรรมชาติ
10.  มีบริวารล้วนแต่ขยันขันแข็ง  ไม่ว่ามีลูก ญาติมิตร  บริวาร คนใช้  ต่างขยันไม่เกียจคร้าน
11.  มีคำพูดที่เชื่อถือได้  พูดแล้วหน้าเชื่อฟัง  น่าปฏิบัติตาม
12.  มีลิ้นบางเหมือนกลีบบัว
13.  มีจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน  ใจสงบ  ใจเย็น
14.  ไม่พูดติดอ่าง  ไม่เป็นใบ้
อานิสงค์ของการรักษาศีลข้อที่ 5 ( เว้นจากการดื่ม  สุรา  เมรัย  และสิ่งเสพติดทั้งหลาย  มีหมากพลู  บุหรี่  เป็นต้น  )  มี 35 อย่าง คือ
1.           รู้กิจการในอดีต  ปัจจุบันได้อย่างรวจเร็ว  ว่าจะทำอย่างไรกิจการงานจึงจะเจริญก้าวหน้า
2.           มีสติตั้งมั่น  ไม่เลอะเลือน
3.           ไม่เป็นคนบ้า
4.           เป็นผู้มีความรู้มาก  มีสติปัญญามาก  ความจำดี
5.           ไม่หวั่นไหวง่าย  เป็นคนมีเหตุมีผล  ไม่หูเบา
6.           ไม่งง  ไม่เงอะงะ
7.           ไม่เป็นใบ้
8.           ไม่มัวเมา
9.           เป็นคนไม่ประมาท  ไม่เผอเลอ  สุขุมลุ่มลึก
10.  ไม่หลงใหล  ในรูป รส กลิ่น เสียง  สัมผัส
11.   ไม่หวาดหวั่น  ไม่สะดุ้งตื่นกลัว
12.  ไม่เป็นคนขี้รำคาญ  ขี้โมโห
13.  ไม่มีใครอิจฉา ริษยา  ไม่ว่าได้เงินทอง  ข้าวของ หรือชื่อเสียงเกียรติยศ
14.  เป็นคนมีความขนขวยน้อย  ไม่ทะเยอทะยาน มักน้อยสันโดษ
15.  เป็นคนมีความสุข
16.  ไปที่ใหนมีแต่คนนับถือ เคารพ  ยำเกรง
17.  พูดคำสัตย์ไม่ตลบตะแลงกลับกลอก
18.  ไม่สอเสียดใคร ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนแตกร้าวกัน
19.  ไม่พูดคำหยาบกับใคร พูดแต่คำไพเราะ
20.  ไม่พูดจาเพ้อเจ้อ
21.  เป็นคนไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน
22.  เป็นผู้มีความกตัญญู  รู้คุณคน
23.  ตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ
24.  ไม่ตระหนี่ ถี่เหนียว
25.  รู้จักเฉลี่ย  เกื้อกูลคนอื่น
26.  เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
27.  มีความซื่อตรง  ไม่คดไนข้องในกระดูก  ไม่คดโกงตัมตุ๋น
28.  ไม่เป็นคนมักโกรธ
29.  มีใจละอายต่อการทำบาป
30.  เกรงกลัวต่อผลของบาป
31.  มีความเห็นถูกต้องไม่เป็นมิจฉาทิฐิ  เห็นว่าทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว  บาปบุญมีจริง  ทำอย่างไรย่อมได้รับผลเช่นนั้น
32.  เป็นผู้มีปัญญามาก  เฉลียวฉลาด  รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม
33.  เป็นผู้มีปัญญารุ่งเรืองในธรรม
34.  เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้มีญาณเป็นเครื่องหยั่งรู้
35.  เป็นผู้ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์  รู้สิ่งใดเป็นโทษ  สิ่งใดเป็นคุณ  รู้ดี  รู้ชั่ว  รู้สุข รู้ทุกข์ รู้บุญรู้บาป  อะไรควรไม่ควร  เป็นผู้ฉลาดหลักแหลมในธรรม  ฉลาดในชีวิต

นี้คืออานิสงค์ของการรักษาศีลห้า  ฉะนั้นศีลทั้งห้าข้อที่โยมรักษาล้วนมีอานิสงค์ทั้งสิ้น  อย่าคิดว่ารักษาแล้วไม่เห็นได้อะไร  ศีลแต่ละข้อให้อานิสงค์เยอะมาก  ยิ่งข้อที่ห้ามีอานิสงค์ถึง 35 อย่าง ฉะนั้นญาติโยมจงตั้งอยู่ในศีล  จงเป็นคนมีศีล  เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่า  สี เล นะ คุค ติง ยัน ติ ศีลทำให้คนเราไปสู่สิ่งที่ดีๆ  สี เล นะ โภ คะ ปะ สัมป ทา  ศีลทำให้คนถึงพร้อมด้วยสมบัติ  สิ เล นะ นิพ พุ ติง ยัน ติ  ศีลทำให้คนถึงซึ่งพระนิพาน  เหมือนคนโบราณเราพูดไว้   ทำทานบ่มีศีลพร้อมผลบุญบ่เต็มส่วน  ทำแต่ทานสีลบ่พร้อมมันสิได้บอนจังได๋  มีเงินบ่มีคำเฝ้าจ่าหนีมื้อฮ้อยเทื่อ  มีคำถ้าบ่มีอินอ้อยออยไว้กะบ่ฟัง  แม้เราจะมีเงินมีทองมีข้าวมีของ  แต่หากปราศจากศีลแล้ว  เงินทองข้าวของจะหนีหมด  เมื่อใดที่เรามีศีล  ศีลจะรักษาคุ้มครองไว้ชึ่งทรัพย์สมบัติให้ยังอยู่กับเราตลอดไป
            ฉะนั้นวันนี้ได้กล่าวธรรมะเป็นของฝากจากใจ  ธรรมะก่อนจากก็ขอฝากศีลฝากธรรมให้แก่ญาติโยม เพื่อที่จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติที่ กาย  วาจา  ใจ   ของตนเองให้ได้ประโยชน์จากธรรมะ  ปราโมทย์ใจ  ตังนั้นปีนี้เป็นการทำบุญครบรอบล้ออายุ 68 ปี  ก็ขอขอบใจญาติโยมที่มาร่วมในงานก็ดี  มาปฏิบัติธรรมก็ดี  มาให้ของขวัญอาตมาก็ดี  ก็ขออนุโมทนาสาธุการด้วย  สุดท้ายนี้ขอให้บุญกุศลที่เราทุกคนได้บำเพ็ญมา  ตั้งแต่วันแรกก็ดี  จนถึงวันนี้ก็ดี  จงรวมกันเป็นตบะ  เป็นเดชะ  เป็นพลวะปัจจัย  เป็นบุญกุศลหนุนส่งให้เราทั้งหลาย  มีแต่ความสุขความเจริญ  ในชีวิตในการงาน  และในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตราบเท่าพระนิพพานโดยทั่วหน้ากัน  จงทุกท่าน  ทุกคนเทอญ............

สาธุ................................

บรรยายโดย  อริยสังฆทาสภิกขุ
  (พระครูพิศาลธรรมภาณี)
วัดสันติวนาราม  พุทธอุทยาน
ตำบลบ้านเชียง  อำเภอบ้านเชียง  จังหวัดอุดรธานี
ที่ระลึกวันล้ออายุ ๖๙ ปี  ๕ พฤษภาคม  ๒๕๕๔