วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มารู้จักศีล ๔ กันเถอะ (ขอย้ำศีล ๔ ไม่ใช่ศีล ๕)

 
 เราเพิ่งไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งมา
แล้วเจอมา เป็นหนังสือถามตอบปัญหาของ อาจารย์วศิน อินนทสระ เล่ม ๔
เห็นแล้วแปลกดี ปกติจะเจอแต่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐

เราจะขอยกคำถามที่เขาถามมาทั้งหมดนะ

"คำถามที่ ๗๖๘"
ศีล ๔ คืออะไรครับ บางท่านกล่าวว่า ศีล ๔ สูงกว่า ศีล ๕ แล้ว
ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับคำกล่าวนี้ครับ

"ตอบ"

ศีล ๔ เรียกเป็นศัพท์ธรรมะว่า “จาตุปาริสุทธิศีล” คือ

๑. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้นในเวลาเห็นรูป ฟังเสียงเป็นต้น

๒. ปาติโมกขสังวร สำรวมในปาติโมกข์ ตามระดับชั้นของตนๆ
เช่น ศีล ๕ สำหรับอุบาสกอุบาสิกาทั่วไป ศีล ๘ ศีล ๑๐ (ศีล ๑๐ นี้
สำหรับสามเณร) ศีล ๒๒๗ สำหรับภิกษุ กุศลกรรมบถ ๑๐ สำหรับ
อุบาสกอุบาสิกาผู้ถือศีลเคร่งครัดกว่าศีล ๘
หมายเหตุ ที่จริงปาฏิโมกขสังวรขึ้นก่อนเป็นข้อ ๑ อินทรียสังวร
เป็นข้อ ๒

๓. อาชีวปาริสุทธิ เลี้ยงชีพบริสุทธิ์ คือ เป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ไม่
ประกอบมิจฉาชีพ

๔. ปัจจยปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนแล้วจึงบริโภคปัจจัย ๔
คือ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นประโยชน์ทั้งแก่
บรรพชิตและคฤหัสถ์ สำหรับบรรพชิตท่านปรับอาบัติผู้ที่ไม่พิจารณา
เสียก่อนแล้วจึงบริโภคใช้สอย สำหรบั คฤหัสถ์ทำให้เป็นผ้รู ้จู กั ประมาณ
ในปัจจัย ๔

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากhttp://www.dek-d.com/board/view.php?id=2506525

คาถา ๙ คำ นำมาฝาก


คาถา หรือ พุทธศาสนสุภาษิต  ๙  คำนี้ ถือ เป็นคาถาศักสิทธิ์ เป็นคาถาพระมหาชนก  เพราะมี  ๙  คำพอดี  หรือที่ คนโบราณเขาว่าเก้าดี  สิบดี  โดยเฉพาะเลข  ๙  เป็นเลขมหามงคล  

ขอให้ท่องและก็จำไว้ แล้วนำไปปฏิบัติด้วยจึงจะเห็นผล
ชีวิตจะก้าวหน้า  ให้ท่องคาถา  ๙  คำ
แต่ถ้าชีวิตมีปัญหาก็ให้แก้ด้วยคาถา  ๙  คำนี้ เหมือนกัน

 คาถา มีอยู่  ๙  คำ ดังนี้....

 วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ   อ่านแล้วรวม  ๙  คำ  
แปลว่า " บุคคลจะพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร " 
 แปลก็  ๙  คำเหมือนกัน

หรือ  อันล่างนี้มากกว่า  ๙  คำ  แต่ก็ใช้ได้เหมือนกัน  คือ....

วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา  
แปลว่า  เกิดเป็นคนต้องพยายามร่ำไป 
 จนกว่าจะได้ในสิ่งที่ปรารถนา "

ต้องถือคติที่ว่า " ล้มเพราะเดิน(ก้าว)ไปข้างหน้า  ดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่ "
ชีวิตยังไม่สิ้นมันต้องดิ้นกันต่อไป  มีชีวิตแล้วไม่ดิ้น  รอแต่วันสิ้นใจ
อย่าลืมว่า  " อดีตไม่ขยัน  ปัจจุบันไม่ขวนขวาย  ไม่ต้องทำนายอนาคต "  เขาว่ายังงั้น

แต่เจ้าของกระทู้ก็เคยได้ยินคนเขานำไปแปลแบบขำๆ  ในประโยคที่ว่า 
" ล้มเพราะเดินไปข้างหน้า  ดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่  แต่ถ้าเดินแล้วไปเหยียบขี้  ขอย่ำอยู่กับที่จะดีกว่า "

  
ประโยคหลังนี้ไม่สุภาพต้องกราบขออภัยด้วย  คิดเสียว่าเป็นมุขขำๆคลายเครียดก็แล้วกันนะครับ   และให้คิดเสียว่ามันเป็นเพียงอุปสรรคที่เราอาจจะต้องเจอในการที่เราจะก้าวเดินไปข้างหน้าสู่ความสำเร็จ  ไม่ว่ามันจะเป็นอุปสรรคอะไร  เพียงแต่เราสามารถก้าวข้ามมันไปได้  ก็ถือว่าสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2510707

10 ข้อ ประโยชน์ที่ได้จากการนั่งสมาธิ


   
1. ได้รับพลังบุญมาก การนั่งสมาธิถือเป็นบุญใหญ่ ส่งผลช่วยให้เรามีความทุกข์น้อยลง
เช่น เมื่อเรามีความทุกข์มากในระดับขั้นที่เราอาจจะต้องร้องไห้ พลังบุญจากการนั่งสมาธิจะช่วยให้เรามีความทุกข์น้อยลงได้ โดยอาจไม่ถึงกับต้องร้องไห้

2. วาระจิตอยู่ในระดับที่สูงขึ้น สภาวะจิตสูงขึ้น หมายความว่า มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

เช่น กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ (ในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม) มากขึ้น

3. ภาวะผู้นำเพิ่มสูงขึ้น การนั่งสมาธิจะทำให้มีจิตใจหนักแน่นมากขึ้น 

4. มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น คือ รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำสิ่งใด 
มีความรอบคอบมากขึ้น คิดก่อนทำมากขึ้น ทำงานไม่ผิดพลาด ไม่ประมาท

5. มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองมาก เจ้ากรรมนายเวรทำอะไรเราไม่ได้

หลังจากนั่งสมาธิแล้วให้ถวายบุญกุศลให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงอุทิศบุญกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เช่น พระพุทธเจ้า หลวงพ่อโสธร หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองดูแลข้าพเจ้า นำจิตมาไว้ที่ลิ้นปี่ แล้วนึกถวายบุญกุศลแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น

ท่านจะปกป้องคุ้มครองเราให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ 
การงานสิ่งใดที่คิดไม่ออก สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะดลบันดาลใจให้เราคิดออก 
สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคอยติดตามตัวเราไปทุกหนทาง เพื่อปกป้องคุ้มครองเรา

6. เรียนเก่งขึ้น สามารถเข้าใจการเรียนวิชาต่างๆมากขึ้น เพราะการมีสมาธิที่ดีในการเรียน ทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านคิดเรื่องไร้สาระต่างๆ มีสติปัญญาเฉียบแหลมมากขึ้น ส่งผลให้การเรียนดียิ่งขึ้น

7. มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบมากขึ้น สามารถเรียงลำดับการคิดได้อย่างเป็นระเบียบ สิ่งใดมากก่อนหลัง จัดลำดับความสำคัญ ว่าสิ่งใดควรจะทำก่อน สามารถคิดแก้ปัญหาหรือสิ่งต่างๆออกได้โดยใช้เวลาไม่นาน

8. พูดภาษาต่างประเทศได้ คนที่คิดว่าเราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ภาษาเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกิน การนั่งสมาธิสามารถช่วยได้ ทำให้เรามีสติ คิดออกได้มากขึ้น มีกระบวนการคิดที่ดีขึ้น รวมถึงการกล้าคิด กล้าพูด จนเราสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้

9. ฝึกขันติบารมี การนั่งสมาธิต้องใช้ความอดทนในเรื่องทุกขเวทนา อาจต้องมีการปวดเมื่อยตามร่างกายบ้าง คันตรงนู้นตรงนี้บ้าง การนั่งสมาธิเป็นการฝึกความอดทนที่ดีเยี่ยม

10. พ้นจากวิบากกรรม กรรมในอดีตชาติ กรรมในปัจจุบันชาติ ย่อมหมุนเวียนเป็นกงกรรมกงเกวียน กลับมาตามสนองเราอยู่เรื่อยไป การนั่งสมาธิสามารถช่วยให้พ้นวิบากกรรมได้ หรือลดวิบากกรรมให้เบาบางลง ทำให้ชีวิตเรามีความทุกข์น้อยลง และมีความสุขมากขึ้น

แต่เราเคยทำกรรมสิ่งใดแล้ว กรรมสิ่งนั้นไม่สามารถลบล้างได้
แม้ว่าเราจะทำบุญมากแค่ไหนก็ตาม

ก่อนการนั่งสมาธิควร สวดมนตร์ระลึกถึงพระพุทธเจ้า 
และ เดินจงกรม เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การนั่งสมาธิที่ดีขึ้น

การนั่งสมาธิให้กำหนดจิต พุท - โธ หรือ ยุบหนอ - พองหนอ หรืออย่างไรก็ได้แล้วแต่เรา
กำหนดจิตที่ท้อง อย่าคิดฟุ้งซ่าน เพราะจะไม่ได้ผล

การนั่งสมาธิที่ได้ผล บรรลุตามเป้าประสงค์ คือ เมื่อขณะนั่งสมาธิ จะรู้สึกมีความสุขมาก จิตใจเป็นปิติ หัวใจพองโต รู้สึกปลาบปลื้มอยู่ในใจ ถือว่าเป็นความสุขอย่างที่สุด


ขอเชิญชวนให้เราทุกคนนั่งสมาธิกัน เพื่อประโยชน์สุขในชีวิตของเรามากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากhttp://www.dek-d.com/board/view.php?id=1364719

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ที่มาของคาถาเงินล้าน


 
ที่มาของคาถาเงินล้าน

                        ก่อนที่อยู่วัดท่าซุงนะ  ฉันอยู่กระต๊อบ  เงินร้อยก็หายาก  สำหรับเงินทำบุญคาถาวิระทะโยก็ทำเรื่อย ๆ ไป  ต่อมาท่านก็มาหา  ก็บอกว่าคาถาบทนี้นะที่เขาทำพระวัดพนัญเชิญองค์แรก  มีเจ้าอาวาสองค์แรกท่านไปนั่งกรรมฐาน  และเสกด้วยคาถาบทนี้สามปี  ท่านให้ดูตัวอย่างวัดพนัญเชิงเงินขาดไหม  ฉันก็ทำมาเรื่อย
                        มาอีกปีหนึ่งกำลังบวงสรวง  ท่านบอกว่า คาถาบทนี้เป็นคาถาเงินแสนนะ ก็ใช้คาถาบทนั้นมาประมาณครึ่งปี  คนมาทอดกฐินผ้าป่าได้เงินเป็นแสน  นี่เห็นชัดนะ
                        แล้วต่อมาอีกปีหนึ่ง  ท่านบอกว่า   คาถาบทนี้เป็นคาถาเงินล้านนะ  ให้ว่าต่อเนื่องกันไป  แล้วไปลง คาถาวิระทะโย  ต่อมาก็จริง ๆ  เพราะปี 27  ก็ใช้เงินล้านเป็นเดือน ซึ่งไอ้อย่างนี้เราก็คิดไม่ออก  ต้องค่อย ๆ ใจเย็น ๆ
                        เวลาว่าไปอย่าไปว่าหวังเอาลาภ  คือต้องภาวนาด้วยนะ  ถ้าทางที่ดีเวลาภาวนากรรมฐาน  พอจิตสบายน่ะต่อเลย  เพราะเวลากรรมฐานนี่จิตเป็นฌานใช่ไหม  เอาอย่างนี้อีกว่า เวลาฝึกมโนมยิทธิออกไปให้ได้นั้น  ออกไปเดี๋ยวเดียวก็ได้  ออกไปได้นี่จิตเป็นฌาน 4  เข้าเขตพระนิพพานได้  จิตสะอาดถึงที่สุด  กลับลงมาด้วยคาถาบทนี้เลย มากน้อยก็ช่างให้หลับไปเลย  คือถ้าจิตสะอาดมากผลก็เกิดเร็ว
                        ก็สงสัยเหมือนกันนะ  เมื่อปี 26  ท่านบอกว่า ปี 27 มีอะไรบ้างก็ตุน ๆ ไว้บ้างนะ 28 จะเครียดมาก  การค้าของใครถ้าทรงตัวได้ก็ถือว่าดีไว้ก่อน  อันนี้ท่านบอกว่า  ถ้าลูกเราจะจนก็จนไม่เท่าเขา
                        ถ้าพูดถึงผล  ฉันนั่งดูเรื่อย ๆ มาว่า  เอ๊ะ  เงินแสนมันจะมีมาได้อย่างไร  ภายในปีนั้นปรากฎว่า  สมัยนั้นวัดต่าง ๆ เขายังไม่ถึงหมื่นเลย  แล้วต่อมาคาถาเงินล้านก็ต้องว่าต่อ เพราะต่อไปข้างหน้าต้องใช้เงิน
                        พระพุทธเจ้าบอกนี่ต้องเชื่อ  ต้องใจเย็น ๆ  ไม่ใช่ไปเร่งรัด  ถ้าไปว่าแล้วคิดว่าเราต้องรวยนี่เสร็จ..พัง  ต้องว่าด้วยจิตเคารพ  นานหลายปีท่านไม่ยอมเปิดกับใคร  ก่อนจะเข้าถึงดีมันต้องเครียด  ไอ้ปี 28 ความจริงมันน่าจะดี  แต่ไป ๆ มา ๆ ก็มีจุดสะดุด  จุดสะดุดนี่เป็นชะตาของชาติ  แต่ยังไง ๆ ก็ต้องไปเจอะจุดรวยแน่
                        ถ้าพวกนี้รวยนะ  วัดท่าซุงไม่เป็นไร  คือว่าหนี้นี่น่ะอย่าคิดว่ามันโจ๊ะกันได้ เมื่อปี 30 นะ มันเกินค่าใช้จ่าย  เดือนละสองล้านเศษ  อันนี้ต้องคิด  เดือนนี้ก็ตกเกือบสามล้าน คือ สองล้านเก้าแสนเศษ
                        ตอนนี้ท่านให้ฉันเขียนโครงการที่จะทำให้เสร็จในปี 30  โครงการของท่านจริง ๆ มีมาก  ท่านย่าก็เคยบอก  ท่านบอกว่า
                        ท่านไม่บอกคุณตรง ๆ หรอก  ท่านรู้ใจคุณ  ถ้าบอกโครงการทั้งหมด  คุณไม่ทำแน่
                        พระพุทธเจ้าก็รู้คอนะ  ไป ๆ มา ๆ  ท่านให้นั่งเขียนตามนี้นะ  12  รายการ  ให้เสร็จภายในปี 30  เลยคิดว่าเงินที่ต้องใช้เป็นพ้อม ๆ  รายการมากนะลูก  ถ้าหากจะถามว่า 10 ล้านพอไหม  ก็ต้องบอกว่ามันไม่ได้ครึ่งหลังที่ท่านทำหรอก
                        วันนั้นก็ขึ้นไปที่กระต๊อบฉัน  ไปถึงกระต๊อบก็ปรากฎว่า  สมเด็จองค์ปัจจุบันท่านประทับอยู่ที่นั่น  และท่านพระเจ้าแม่ให้นามว่า มัทรี หรือ พิมพา  ไปที่อเมริกา  ท่านบอก  ฉันแม่คุณเหมือนกัน  ฉันเคยเป็นแม่คุณ  ถามว่าชื่ออะไร  ชื่อมัทรี  แล้วคุมมาตั้งแต่อเมริกา  เวลานี้ก็ยังคุมอยู่  ก็ไปกราบเรียนถามท่านว่า  คำสั่งที่สั่งให้มันเกินวิสัย  แค่อาคาร 300  ห้อง  จาก พ.ศ.นี้ไปจนถึงปี  30  มันก็เสร็จยากเหลือเกิน  และอีกหลายรายการมันก็ใหญ่ทั้งนั้น  ท่านแม่มัทรีก็บอกว่า
                        เอาอย่างนี้ซิลูก  ขออำนาจพระพุทธานุภาพ  ก็เลยหันไปกราบพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่า  ได้  ฉันต้องช่วยเธอ
                        แล้วต่อมาเดินเล่นในบริเวณกระต๊อบของฉันเล็ก ๆ  มันมีถนนหนทางใช้ไหม ก็ปรากฎว่าเดินไปเดินมา  สมเด็จองค์ปฐมก็เสด็จมาเดินด้วย  ท่านบอกว่า
                        สภาพของพระนิพพานมันเป็นอย่างนี้นะ  คนที่ถึงพระนิพพานแล้ว กิจอื่นที่ทำไม่มี  มันเป็นอย่างนี้นะ  เวลานี้เราเดินกลางบริเวณ  พวกเราทั้งหมดลองนั่งดูซิ  มันจะมีอะไรไหม
                        ที่มันเป็นที่นั่งไม่มีเลย  พอนั่งปุ๊บไอ้เตียงตั่งมันเสือกมาได้อย่างไรก็ไม่รู้  เลยคุยไปคุยมา  ท่านก็เลยบอกว่า
                        งานที่ฉันสั่งต้องเสร็จทัน 30
                        ท่านย่ากับแม่ศรีก็ขึ้นไป  ท่านย่าบอกว่า  อำนาจพุทธานุภาพก็มีแล้ว  สังฆานุภาพก็มีแล้ว  พรหมมานุภาพกับเทวานุภาพก็ช่วยแล้ว  แต่ว่าถ้าบรรดาลูกหลานมันยากจน และปี 28  มันจะเครียด  ขอพรพระพุทธเจ้า ขอคาถาสักบท (ที่ท่านให้ฉันไว้นี่)  ขอให้ลูก ๆ หลาน ๆ  ใช้เถอะ..ให้อนุมัติ
                        ความจริงคาถาเฉพาะนี่จะให้ใครไม่ได้เลย  ท่านก็เลยบอกว่า  ถ้าอย่างนั้นไปพิมพ์แจก  และก็ให้มันทำด้วยความเคารพ
                        ฉันไม่ยืนยันว่า  คนที่ไม่เคารพฉันจะมีผล  จำให้ดีนะ
                        จึงขอให้ทุกคน  ถ้าได้รับคาถานี้  ให้ตั้งใจปฏิบัติด้วยความจริงใจ  ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า
                        ต่อไปนี้ก็จะอ่านคาถาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน  และให้ทุกคนตั้งใจนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  คิดว่าคาถาทั้งหมดนี้จงปรากฎอยู่ในจิตของเรา  ลาภผลต่าง ๆ ให้ปรากฎแก่เราตามที่พระองค์ต้องการนะ  นึกถึงท่านนะ
                        สัมปจิตฉามิ                 คาถาสนองกลับ
                        นาสังสิโม                     คาถาพระพุทธกัสสป
                        บทแรก  พรหมา  จะ มหาเทวา  สัพเพยักขา  ปะรายันติ  อันนี้ตัดอุปสรรคที่ลาภจะมา  แต่เขามาบอกว่ามีผลแน่นอน  คือว่าแกจะไม่ยอมให้ลูกแกจน  พูดง่าย ๆ ก็แล้วกัน พระพุทธเจ้าก็ทรงยืนยันบอกว่าให้หมด
                        บทที่สอง  พรหมา  จะ  มหาเทวา  อภิลาภา  ภะวันตุ  เม  คาถาบทนี้เป็นคาถาเงินแสนของท่าน
                        บทที่สาม  มหาปุญโญ  มหาลาโภ  ภะวันตุ เม  บทนี้เป็นคาถาปลุกพระวัดพนัญเชิญ
                        บทที่สี่  มิเตพาหุหะติ  เป็นคาถาเงินล้าน
                        บทที่ห้า  พุทธะมะอะอุ  นะโมพุทธายะ  วิระทะโย  วิระโคนายัง  วิระหิงสา  วิระทาสี  วิระทาสา  วิระอิตถิโย  พุทธัสสะ  มานีมามะ  พุทธัสสะ  สวาโหม  เป็นถาคาพระปัจเจกพุทธเจ้า
                        บทที่หก  สัมปติจฉามิ  บทนี้เป็นบทเร่งรัดบทสุดท้าย
                        บทที่เจ็ด  เพ็ง ๆ  พา ๆ  หา ๆ  ฤา ๆ   พระปัจเจกพุทธเจ้ามาบอกหลวงพ่อเมื่อ พ.ย.33  เป็นภาษาโบราณ  แต่เทียบกับภาษาไทยอ่านได้อย่างนี้  เป็นคาถามหาลาภ  มีผลยิ่งใหญ่มาก
                        ทั้งหมดนี้ต้องสวดเป็นบทเดียวกัน  บูชาเรื่อย ๆ ไป  การบูชาถ้าบูชาเฉย ๆมันเป็นเบี้ยต่อไส้
                        อย่าลืมนะ  เวลาสวดมนต์แล้วให้สวดคาถานี้ 9 จบ เท่าเดิมนะ  และเวลาภาวนานอนภาวนาก็ได้  ว่าเรื่อย ๆ ไป  จนกระทั่งหลับไปเลย  ตื่นขึ้นมาต่อจากกรรมฐานนอนก็ได้  ใจสบาย ๆ นะ  บางทีเผลอ ๆ ฉันก็ต้องว่าของฉันเรื่อย ๆ ไป  คาถาเงินล้านนี่มาให้เมื่อปีฝังลูกนิมิต  ท่านบอกว่า  งานข้างหน้าจะหนักมาก  หลังจากนี้เป็นต้นไป  เงินจะใช้มากกว่าสมัยที่สร้างโบสถ์
                        อย่าลืมนะ  เวลาว่าง ๆ นั่งนึกก็ได้  เดินไปก็ได้ไม่ห้ามเลยนะ  ให้มันติดใจอยู่อย่างนั้น  ให้ถือว่าเป็นกรรมฐานไปในตัวเสร็จ  เพราะคาถาที่พระพุทธเจ้าบอกทุกบท   ก่อนจะทำต้องนึกถึงท่าน  ถือว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน

(คัดมาจากหนังสือ  สมบัติพ่อให้  ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน  วัดท่าซุง)

จาก หนังสือธรรมสัญจร  เล่ม 1

อานิสงส์กฐินทาน


 
อานิสงส์กฐินทาน
โดย  หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

                        ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12  เป็นเวลากาลที่จะทอดผ้าพระกฐินทาน  เหตุฉะนั้นในวันนี้อาตมาภาพจะได้นำเอาเรื่องราวของบุญที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  ปุญญานิ  ปรโลกัสมิง  ปติฏฐา  โหนติ  ปาณินัง  ซึ่งแปลเป็นใจความง่าย ๆ ว่า  บุญกุศลย่อมจะทำให้บุคคลมีความสุขต่อไปในภายภาคข้างหน้า

                        ความมีอยู่ว่า  ในสมัยเมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่  เวลานั้นองค์สมเด็จพระบรมครูทรงเสด็จประทับอยู่ในพระคันธกุฎีมหาวิหาร อันเป็นวิหารที่นางวิสาขาหาอุบาสิกาสร้างถวาย ตั้งอยู่ในเขตแห่งเมืองสาวัตถีคือเมืองสาเกต อันเป็นเขตพระราชฐานของพระราชา  มีนามว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์

                        เวลานั้นเป็นเวลาก่อนที่จะเข้าพรรษา  มีภิกษุชาวปาฐา  30  รูป  ตั้งใจไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองสาเกต  อันเป็นเขตของเมือง
สาวัตถี  แต่ว่าเวลานั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีได้มีพระพุทธฎีกาบัญญัติว่า  ถึงวาระเวลากาลฤดูฝนตั้งแต่กลางเดือน 8  ให้บรรดาภิกษุทั้งหลายหาที่พักจำพรรษาห้ามเดินไปในสถานที่อื่น จนกว่าจะถึงวันกลางเดือน  11

                        ทั้งนี้เพราะว่าในสมัยก่อนนั้น  องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติฤดูกาลแห่งการจำพรรษา  ฉะนั้นจึงมีเหตุอยู่ว่า  เวลาฤดูฝนชาวบ้านเขาปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารมาก  สาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าบางท่านก็ดี  แต่บางท่านก็เต็มที  เพราะว่าไร้มารยาทเดินลัดทุ่งหญ้าทุ่งนา  เหยียบพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ชาวบ้านเขาปลูกไว้  ทำให้ต้นพืชต้นข้าวเขาเสียหาย

                        ต่อมาเมื่อมีคนตำหนิว่า  สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไร้มายาท ปราศจากความดี  ทำลายทรัพย์สินเหล่านี้ของเขาให้สิ้นไป  เหตุฉะนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงได้ทรงบัญญัติว่า  ตั้งแต่ต้นฤดูฝน คือกลางเดือน 8  เป็นต้นไปให้  บรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจำพรรษาสิ้นเวลา  3  เดือน  ถึงกลางเดือน  11

                        เวลานั้นภิกษุชาวปาฐา  30 รูป จะเข้ามาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินมาระหว่างทางไม่ทันจะถึง  ก็ปรากฎว่าถึงกลางเดือน  8  พอดี  จึงต้องหยุดพักจำพรรษาตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงอนุมัติ  คือการจำพรรษานั้นจะจำพรรษาที่บ้านทุ่งก็ได้  ที่บ้านร้างก็ได้  บ้านว่างก็ได้  ในโพรงไม้ก็ได้  อย่างนี้เป็นต้น  เพราะเป็นที่กันฝนได้  ครั้นเมื่อออกพรรษาภิกษุ  30  รูป  ทั้งหลายเหล่านั้นก็ตั้งใจจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา

                        เวลานั้นพระพุทธเจ้าก็ยังทรงบัญญัติว่า  พระต้องมีผ้าแค่  3  ผืน  นั่นเอง สบง 1  ผืน  จีวร  1  ผืน  สังฆาฏิ  1 ผืน  และมีผ้าเกินคือผ้าอังสะอีก  1  ผืน  ใช้เป็นผ้าซับในกับรัดประคตเอว  มีเกินนอกนี้ไม่ได้  เหตุฉะนั้น บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายเวลานั้นจึงมีผ้าจำกัด เวลาที่จะเดินไปเฝ้าพระทรงสวัสดิโสภาคย์  ก็ต้องผ่านใบหญ้าใบไม้ที่เปียกชุ่มใบด้วยน้ำฝนและน้ำค้าง  สบงจีวรของท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็เปียกชุ่มโชกไปในระหว่างทาง

                        พอไปถึงเมืองสาเกตุ  เวลานั้นองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์กำลังแสดงพระธรรมเทศนาอยู่  ครั้นเทศน์จบแล้ว  บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายจึงพากันไปเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมครูก็ต้องเข้าไปทั้งที่เปียก ๆ  เพราะมันไม่มีผ้าจะผลัด  เมื่อเข้าไปแล้วก็ถวายนมัสการองค์สมเด็จพระสวัสดิโสภาคย์  แล้วก็นั่งอยู่

                        เวลานั้นนางวิสาขาเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมครูอยู่พอดีครั้นเห็นบรรดาภิกษุชาวปาฐาทั้ง  30  รูปนี้  มีผ้าสบงจีวรเปียกโชกไปอย่างนั้น  จึงได้กราบทูลขอพรต่อองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า  ภันเต  ภควา  ข้าแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เจริญ  พระพุทธเจ้าข้า  ต่อแต่นี้ไปข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรจากพระผู้มีพระภาคว่า  ฤดูกาลหลังจากออกพรรษาแล้ว  ขอบรรดาประชาชนทั้งหลายมีโอกาสถวายผ้าไตรจีวรแก่คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

                        เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาได้สดับนั้นแล้ว  องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงอนุมัติ  แล้วก็ทรงประกาศให้บรรดาประชาชนถวายผ้าพระกฐินทานแก่บรรดาพระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบไตรมาสในอาวาสนั้น ๆ ได้

                        นี่เป็นอันว่า  ต้นเหตุแห่งการทอดผ้าพระกฐินในศาสนานี้ก็มีนางวิสาขาเป็นคนแรก  สำหรับอานิสงส์กุศลบุญราศีในการถวายผ้าพระกฐินทานนี้  องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่ามีอานิสงส์มากเป็นกรณีพิเศษคือ  คนถวายผ้าพระกฐินทานหรือร่วมในการถวายกฐินทานครั้งหนึ่ง  จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็เป็นได้   จะปรารถนาพระนิพพานเพื่อเป็นพระอรหันต์ปกติก็เป็นได้

                        ยิ่งกว่านั้นไซร้  ก่อนที่บรรดาผลทั้งหลายเหล่านั้น คือความเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี  ความเป็นพระอัครสาวกก็ดี  หรือว่าเป็นอรหันต์สาวกก็ดี  จะมาถึง  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวว่า  ในขณะที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ  มีบารมียังไม่สูงดียังไม่พอที่จะบรรลุมรรคผลได้  อานิสงส์กฐินทานจะให้ผลตามนี้

                        กล่าวคือ  อันดับแรกเมื่อตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดา  แล้วก็จะลงมาเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช  ปกครองประเทศทั่วโลก  มีมหาสมุทรทั้ง 4  เป็นขอบเขต 500  ชาติ

                        เมื่อบุญแห่งความเป็นพระมหาจักรพรรดิสิ้นไป  บุญก็หย่อนลงมา  จะได้เป็นพระมหากษัตริย์  500  ชาติ

                        หลังจากนั้นมา  เมื่อบุญแห่งความเป็นกษัตริย์ได้หมดไปก็จะเป็นมหาเศรษฐี 500  ชาติ
                       
บุญแห่งความเป็นมหาเศรษฐีหมดไป  ก็จะเป็นอนุเศรษฐี  500  ชาติ
                                                                                                                       
                        บุญแห่งความเป็นอนุเศรษฐีหมดไป  ก็จะเป็นคหบดี  500  ชาติ

                        รวมความแล้ว  สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสว่า  คนที่ทอดผ้าพระกฐินครั้งหนึ่งก็ดี  บุญบารมีส่วนนี้ยังไม่ทันจะหมด  ก็ปรากฎว่าท่านเจ้าของไปนิพพานก่อน  เมื่อองค์สมเด็จพระชินวรตรัสอย่างนี้แล้ว  จึงได้ตรัสอีกว่า  เราเทศน์คราวนี้  เทศน์ตามนัยที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดามีพระนามว่าปทุมุตตระ  ได้เทศน์ไว้เมื่อ  91  กัปป์มาแล้ว พระองค์ก็รับรองว่าอานิสงส์เป็นอย่างนี้

                        หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีจึงได้นำเอาเรื่องราวอดีตทาน  ซึ่งเป็นอัตตโนบุพกรรม  กล่าวคือ  เป็นกรรมของพระองค์มาตรัส  ตอนนั้นองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ทรงตรัสว่า  ภิกขเว  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถอยหลังจากกัปป์นี้ไป  91  กัปป์  ถ้านับกัปป์นี้ด้วยก็เป็น 92 กัปป์  ยังมีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งทรงอุบัติขึ้นในโลก  มีพระนามว่า 
ปทุมุตระ  เวลานั้น พระปุมุตระได้แสดงพระธรรมเทศนาอานิสงส์กฐินตามที่กล่าวมาแล้ว

                        ขณะนั้นเองปรากฎว่า  มีชายมหาทุคคตะคนหนึ่ง  คำว่า  มหาทุคคตะนี้จนมาก  เป็นทาสของท่านคหบดี  ได้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระชินสีห์  โดยนั่งอยู่ท้ายบริษัท  ฟังเทศน์ที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์เทศน์นั้น  ท่านเทศน์ตามนัยเมื่อกี้นี้  เมื่อฟังจบก็รู้สึกดีใจนักว่า  อานิสงส์กฐินนี่มากมายเหลือเกิน  แต่ว่าเราอยากจะทอดกฐิน เราก็เป็นเพียงทาสของเขา  เงินสักบาทหรือสลึงหนึ่งก็ไม่มี  ไอ้เครื่องแต่งกายของเรานี้มันก็แสนจะขาดแสนจะเก่า  เราจะทำอย่างไรเล่าจึงจะมีโอกาสได้ทอดกฐิน  แต่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า  นอกจากจะเป็นเจ้าภาพแล้ว  ถ้าหากว่ามีการช่วยในการทอดกฐิน  เราก็มีอานิสงส์เหมือนกัน   ซึ่งองค์สมเด็จพระภควันต์กล่าวว่า  ถึงแม้ว่าจะช่วยในการทอดกฐิน  จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้  เป็นพระอัครสาวกก็ได้  เป็นมหาสาวกก็ได้  เป็นปกติสาวกก็ได้  และนอกนั้นไซร้ก็ยังได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  เป็นกษัตริย์  เป็นมหาเศรษฐี  เป็นอนุเศรษฐี  เป็นคหบดี  ถ้ากระไรก็ดี  เราจะช่วยนายของเราทอดกฐิน

                        เมื่อดำริอย่างนี้แล้ว  ครั้นฟังเทศน์จากสมเด็จพระประทีบแก้วจบ  ชาวบ้านเขากลับ  ท่านมหาทุคคตะก็กลับเหมือนกัน  เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ชวนนายทอดกฐิน  พูดถึงอานิสงส์ให้ฟัง  นายฟังแล้วก็ดีใจว่า  เออหนออานิสงส์กฐินทานนี่มีอานิสงส์มาก  การถวายก็ไม่ยากเรามีผ้าจีวรผืนหนึ่ง  หรือว่าสบงผืนหนึ่ง หรือว่าสังฆาฏิผืนหนึ่งก็ได้  จะถวายทั้งไตรก็ได้ ถวายมากก็ได้  ถวายน้อยก็ได้อานิสงส์เหมือนกัน  ฉะนั้น  ท่านนายจึงกล่าวว่า โภ ปุริสะ  ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ  ถ้ากระไรก็ดีทรัพย์สินของเรานี้มีอยู่  แต่ว่าการทอดกฐินเป็นของใหม่ เราไม่มีความเข้าใจ  ถ้าเธอจะให้ทอดกฐินทานก็จงเป็นผู้จัดการในการทอดกฐินก็แล้วกัน

                        ท่านมหาทุคคตะก็จัดการทุกอย่าง  ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีอะไรบ้างนอกจากนั้นของที่เกินออกไปจากของบริวารเจ้านายจะทำก็ตามใจทุกอย่าง  จนเสร็จภารกิจทุกประการ  เมื่อจัดการครบถ้วนเรียบร้อย  ถึงวันจะทอดกฐินท่านก็มานั่งนึกว่า  ไอ้ทรัพย์สมบัติหมดนี่เป็นของนายแต่ผู้เดียว  เรามีหน้าที่ในการจัดแต่ไม่มีส่วนในทานแม้แต่น้อยหนึ่งเลย  จึงได้เข้าไปในป่าเปลื้องเครื่องแต่งตัวออก  ถอดเสื้อเอากางเกงออก  กลัดใบไม้แล้วก็นุ่งใบไม้ห่มใบไม้แทน เข้าไปในร้านที่ตลาด  เอาเสื้อกับกางเกงนี่เข้าไปบอกเจ้าของร้านว่า  ไอ้เสื้อเก่า ๆ กางเกงเก่า ๆ ของฉันนี่มันจะแลกของอะไรได้บ้างหนอ  ของในร้านนี้เอาอะไรก็ได้ ฉันต้องการแต่เพียงอย่างเดียวที่ท่านจะพึงให้ได้

                        เจ้าของร้านมานั่งพิจารณาว่า  ไอ้ผ้าเก่า ๆ เสื้อเก่า ๆ มันก็เปื่อยแล้ว  จะไปเทียบกับอะไรมันก็ไม่ได้สักอย่าง  ก็เลยตัดสินใจให้ด้ายไปหนึ่งกลุ่ม ให้เข็มไปหนึ่งเล่ม แล้วก็บอกว่าเสื้อผ้าของท่านเหล่านี้  ความจริงราคามันก็ไม่เท่ากับเข็มหนึ่งเล่ม ด้ายหนึ่งกลุ่ม แต่ว่าในฐานะที่ท่านจะเอาไปทำบุญ  เราขอตัดสินใจให้  ฝ่ายท่านมหาทุคคตะท่านได้เท่านั้นท่านก็ดีใจ  ด้ายหนึ่งกลุ่ม เข็มหนึ่งเล่ม เอามาร่วมในการทอดผ้าพระกฐินทานกับเจ้านาย

                        เมื่อทอดผ้าพระกฐินทานเสร็จแล้วไซร้  องค์สมเด็จพระจอมไตรคือพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุโมทนา  กล่าวถึงอานิสงส์เมื่อกี้นี้เป็นเหตุ  ครั้นองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์กล่าวจบ คนทั้งหลายเขาก็กลับกันหมด  ท่านมหาทุคคตะก็คลานเข้าไปไหว้พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตระ  แล้วได้กล่าวคำมโนปณิธานตั้งความปรารถนาว่าด้วยอานิสงส์บุญบารมี ที่ข้าพระพุทธเจ้ามีหน้าที่ขวนขวายในการจัดงานทอดผ้าพระกฐินทานก็ดี  และข้าพระพุทธเจ้าสละเสื้อผ้าอันเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่ข้าพระพุทธเจ้ามี  โดยแลกกับด้ายกลุ่มหนึ่งกับเข็มเล่มหนึ่ง เข้ามาร่วมในการทอดกฐิน  ขออานิสงส์กุศลบุญราศรีอันนี้ จงดลบันดาลให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลเถิดพระพุทธเจ้าข้า

                        เมื่อท่านมหาทุคคตะตั้งมโนปณิธานอย่างนั้นแล้ว  องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงพระนามว่าปทุมุตระ  ก็ทรงพิจารณาดูด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า  มหาทุคคตะคนนี้ปรารถนาพระโพธิญาณ  อยากจะทราบว่ามโนปณิธานความปรารถนาของเธอจะสำเร็จผลหรือไม่  หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ทรงทราบว่า  หลังจากนี้ไป  ต่อไปอีก  91  กัปป์  มหาทุคคตะคนนี้จะไปเกิดเป็นลูกกษัตริย์ ที่กรุงกบิลพัสด์มหานคร  จอมบพิตรอดิศรจะได้นามว่า  สิทธัตถะราชกุมาร  หลังจากนั้นจะออกบำเพ็ญ  มหากษัตริย์จะได้เป็นพระพุทธเจ้า  ทรงพระนามว่า  พระสมณโคดม

                        เมื่อทรงทราบอย่างนี้แล้ว  องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงพระนามว่า
ปทุมุตระ ก็ทรงประกาศคำพยากรณ์ให้ทราบ  ท่านมหาทุคคตะก็ดีใจกลับมาที่บ้าน  หลังจากนั้นไซร้  ท่านก็ตั้งใจบำเพ็ญกุศลบุญราศรีตามกำลังที่จะพึงมี  โดยนัยว่าทรัพย์ทั้งหลายเหล่านี้ของท่านไม่มี  เพราะท่านเป็นทาสเขา  แต่อานิสงส์ที่พาเจ้านายไปทอดผ้าพระกฐินทาน เพราะอานิสงส์ที่พระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า  ท่านจะได้เป็นพระพุทธเจ้ามีพระนามว่า พระสมณโคดม  จากนี้ไปอีก  91  กัปป์  เหตุนี้เป็นเหตุให้เจัานายมีความยินดี  ได้กล่าวว่า

                        มหาทุคคตะ  ความดีในการทอดผ้าพระกฐินทาน  พร้อมด้วยเครื่องบริวารที่เราจะได้โดยยาก  ซึ่งเป็นอานิสงส์ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ต่อแต่นี้ไป  ถ้าเราจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้  เป็นอัครสาวกก็ได้  เป็นปกติสาวกก็ได้  แต่เวลาใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร  ในกาลข้างหน้า  ถ้าบุญบารมีนั้นยังไม่เต็ม  เราสามารถจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ถึง  500  ชาติ  เป็นอนุเศรษฐี  500 ชาติ  และเป็นคหบดี  500  ชาติ

                        แต่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถก็ยังตรัสว่า  อานิสงส์ทั้งหลายเหล่านี้ยังได้ไม่หมด  ก็ปรากฎว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของกฐินทานและผู้ติดตามจะไปนิพพานก่อน  อาศัยที่ความดีขององค์สมเด็จพระชินวรทรงเทศน์  และเธอก็ได้แนะนำเราให้ปฏิบัติความดีที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อน  ฉะนั้น ความดีอันนี้ มหาทุคคตะ เราขอปล่อยท่านจากความเป็นทาส  คือนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  เจ้าก็จงเป็นไทไม่ต้องเป็นทาสต่อไป  และเราจะให้บ้านส่วนของเรา 100  หลัง เป็นที่เก็บส่วย  เป็นเครื่องทำมาหากิน  ให้ข้าทาสหญิงชายช้างม้าวัวควายพอสมควรแก่ฐานะ

                        รวมความว่า  นับแต่เวลานั้นมา  ท่านมหาทุคคตะก็พ้นจากความเป็นมหาทุคคตะ  กลายเป็นคหบดีคนหนึ่ง  อยู่ในฐานะคหบดีมีเงินกิน มีเงินพอใช้พอสมควรแก่ฐานะ  และหลังจากนั้นมา  ท่านก็บำเพ็ญกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติ  เมื่อสิ้นอายุขัยเจ้านายของท่านก็ตาย แล้วไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลกมีความสุข

                        สำหรับท่านมหาทุคคตะ  ได้เคยบำเพ็ญบารมีเพื่อปรารถนาพระโพธิญาณมาก่อน  และในตอนนี้องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า  บารมีเข้าขั้นเริ่มต้นปรมัตถบารมี  เหตุฉะนั้น  มหาทุคคตะคนนี้  เมื่อตายจากความเป็นคน  จึงไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต มีความสุข


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.kaskaew.com

อานิสงส์ของทาน


อานิสงส์ของทาน

                        การให้ทานนี้อย่าลืมนะว่า  ถ้าใจยังไม่หนักแน่นพอ  คนที่เรายังไม่ชอบใจอย่าเพิ่งให้  ให้แต่คนที่เรารักหรือคนที่เราไม่เกลียด  ต่อไปถ้ากำลังใจสูงขึ้น  จิตสบายมีอุเบกขาดี มีเมตตาบารมีสูง  ก็ให้ไม่เลือก  ให้เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ คือกิเลสของเรา  กำลังใจในการให้ทานน่ะเป็นจาคานุสสติ  ก่อนที่จะคิดให้เป็นจาคานุสสติ  อันนี้อนุสสติอย่างใดอย่างหนึ่งถ้ามีประจำใจแล้วมันก็ตกนรกไม่ได้

                        จะยกตัวอย่างมันก็ยาวเกินไป  จะขอพูดถึงอานิสงส์การให้ทาน  ที่สมเด็จพระพิชิตมารทรงตรัสว่า  สมัยพระพุทธกัสสปท่านเทศน์อยางนี้  ท่านบอกว่า

                        บุคคลใดให้ทานด้วยตนเอง  แต่ไม่ชักชวนคนอื่น  ตายจากชาตินี้ไปแล้วไปเกิดใหม่  จะมีทรัพย์สมบัติมาก  จะเป็นคนร่ำรวย  เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี  แต่ว่าขาดเพื่อน ขาดคนเป็นที่รัก  มันก็โดดเดี่ยวแย่เหมือนกัน

                        บุคคลใดดีแต่ชักชวนบุคคลอื่น  แต่ว่าตนเองไม่ให้ทาน  ท่านบอกว่า  ตายจากชาตินี้ไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ มีพรรคพวกมากแต่ยากจน

                        บุคคลใดให้ทานด้วยตนเอง  แล้วก็ชักชวนบุคคลอื่นด้วย  ตายจากชาตินี้ไปเกิดใหม่จะเป็นคนร่ำรวยมากด้วย  แล้วก็จะมีเพื่อนมีบริวารมีมิตรสหายมาก  นี่เรียกว่ามีความสุข

                        บุคคลใดไม่ให้ทานด้วยตนเอง  ไม่ชักชวนบุคคลอื่นด้วย  ตายจากชาตินี้ไปเกิดใหม่  จะไม่มีทรัพย์สมบัติ  เป็นคนยากจนเข็ญใจ  เป็นยาจกขอทาน แล้วขอก็ไม่ค่อยจะได้ ไม่มีใครเขาอยากจะให้  มีแต่คนรังเกียจ

                        การให้ทานที่ก่อนจะนิพพานน่ะ  เราจะต้องมีความสุขในทรัพย์สมบัติก่อน  จะไปคิดว่าการให้ทานเป็นการกำจัดโลภะความโลภ  หรือมีผลอันน้อยแค่กามาวจรอันนี้ไม่ถูก ถ้าเราจะไปนิพพาน  ถ้าเราลำบากมันไปยาก  ใจไม่สบาย  จะเล่านิทานสักเรื่องหนึ่งเอาไหม มันจะชักช้าก็ช้า  จะจบเมื่อไรก็ช่าง  ก็เล่าสู่กันฟัง

                        ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่  มีคนหนึ่งเขามาเกิด แต่คนคนนี้น่ะในชาติก่อน ๆ เวลาบำเพ็ญบารมี  ตัดทานบารมีออกจากใจ  แต่ความจริงเขาก็ไม่อยากได้ทรัพย์สมบัติของใคร  เขามีจาคานุสสติกรรมฐานเป็นปกติ  ได้จาคานุสสติกรรมฐาน  ตัวนี้เขาไม่ได้ให้  แต่จิตเขาละความโลภ  คือละความอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นที่ใครไม่ให้เขาโดยชอบธรรมน่ะ  เขาไม่เอา  เขาไม่อยากได้  แต่ว่าเขาไม่ให้ทาน  ที่ว่า  ทานัง  สัคคโส  ปาณัง  ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า  ทานเป็นบันไดให้ไปเกิดบนสวรรค์   เขาบอกว่ามันต่ำไป  เอาบุญที่เป็นปรมัตถบารมีดีกว่า  คือ
                        1.  มีศีลบริสุทธิ์
                        2.  สมาธิตั้งมั่นก็ระงับนิวรณ์
                        3.   มีปัญญาแจ่มใสเพื่อตัดกิเลส

                        ก็เป็นการบังเอิญว่า  ชาตินั้นเขายังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า  ก็ต้องตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดา  ก็สงสัยอาจจะเป็นเทวดาคนจนก็ได้  ทิพยสมบัติอาจจะสู้ชาวบ้านเขาไม่ได้  ทีนี้ก็กลับมาเกิดใหม่  มาเกิดเป็นลูกหญิงแพศยา เป็นโสเภณี  โสเภณีเวลานั้นถือว่าเป็นตระกูล เป็นอาชีพ ๆ หนึ่ง สังคมหรือสมาคมหนึ่ง แต่ว่าโสเภณีน่ะเขาต้องการเฉพาะลูกผู้หญิง  เขาไม่เหยียดหยามเหมือนสมัยนี้ว่า โสเภณีเลว  ไม่ใช่อย่างนั้น  เขาถือว่าโสเภณีก็เป็นตระกูลหนึ่งที่มีศักดิ์ศรี  พอออกมาเป็นลูกผู้ชายเขาไม่ต้องการ  เขาก็เลยไปหมกป่าไว้ ทิ้งปล่อยให้ตาย  ก็สืบตระกูลเป็นโสเภณีไม่ได้

                        เวลานั้นโสเภณีผู้ชายยังไม่มี  ถ้าบังเอิญมีโสเภณีผู้ชายอย่างสมัยนี้  บางประเทศก็จะหากินคล่องเหมือนกัน  เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของบุคคลแต่ละคน  ก็รวมความว่าเขาเกิดมาไม่มีความสุข  ถูกปล่อยแต่เขาก็ไม่ตาย  เขาไม่ตายเพราะอะไร เพราะว่ามีบุญรักษา เขาจะเป็นอรหันต์ในชาตินี้  เขาถูกหมกอยู่อย่างนั้นไม่ตาย  ถูกแวดล้อมไปด้วยสัตว์รักษาไว้  จนกระทั่งเป็นหนุ่ม  เดินไปเดินมา เดินเที่ยวไปก็ไม่มีอะไรกิน  แต่บุญรักษาเติบโตขึ้นมาได้โดยไม่ต้องกินอาหาร

                        ต่อมาวันหนึ่งเดินเข้าไปชายป่า  เห็นคนเขาเอาอะไรมาฝังไว้  เป็นลูกเขาออกเอารกมาฝัง  ก็แอบดู  พอเขาไปแล้วก็ย่องเข้าไปขุด  เห็นรกเด็กเลยนำรกมากิน  ในชีวิตเขาได้กินเท่านั้นอย่างเดียว  นี่การขาดทานบารมี  หลังจากนั้นก็เดินไปเดินมา  เห็นพระท่านมีความสุขเลยขอบวช  พระอุปัชฌาย์ก็ให้บวช

                        ในเมื่อบวชแล้ว  เวลาบิณฑบาตรตอนเช้า  พระใหม่ก็ต้องเดินข้างหลังตามระเบียบ  เพราะเดินตามอาวุโส  ชาวบ้านใส่บาตรจากหน้า  พอจะถึงองค์หลังข้าวหมดพอดี นี่อานิสงส์ของการไม่ให้ทาน  ท่านก็เดือดร้อนไม่ได้กินข้าว  อุปัชฌาย์ต้องแบ่งให้  ถึงอุปัชฌาย์จะแบ่งให้ หาเองไม่ได้  ใจก็ไม่สบาย

                        วันที่สอง ท่านอุปัชฌาย์บอกว่า  วานนี้เขาใส่หน้าไม่ถึงหลัง  วันนี้คุณเดินข้างหน้า  ทุกคนใส่จะต้องถึงคุณ  แต่ความจริงพระอุปัชฌาย์เป็นพระอรหันต์  อย่างต่ำก็ต้องเป็นวิชชาสามหรืออภิญญาหกแน่  เพราะรู้เรื่องในใจดี  รู้กฎของกรรมดี  ท่านต้องการพิสูจน์ผลว่าคนไม่ให้ทานนั้นมันมีผลเป็นอย่างไร

                        วันที่สอง  ชาวบ้านบอกว่า  วานนี้เราใส่หน้าไม่ถึงหลัง  วันนี้รวมกันใส่จากหลังมาหาหน้า  พอจะถึงองค์หน้าข้าวหมดพอดี  แต่ความจริงเขาตั้งใจจะให้ถึง  แต่กฎของกรรมมันบันดาลให้ตักข้าวหมด

                        วันที่สาม พระอุปัชฌาย์บอกว่า  เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน  คุณยืนกลางเขาจะใส่ทางไหนมันพอทั้งนั้น  เป็นอันว่าท่านยืนกลาง

                        วันที่สาม  ชาวบ้านบอกว่า  วันต้นใส่หน้าไม่ถึงหลัง  วันที่สองใส่หลังไม่ถึงหน้า  วันนี้เราแบ่งเป็นสองพวก  ใส่จากข้างหน้ามาหนึ่งพวก  ใส่จากข้างหลังมาหนึ่งพวก เขาก็ทำตามนั้น  ปรากฎว่าทั้งสองพวกพอจะถึงองค์กลางข้าวหมดพอดี

                        วันที่สี่  พระอุปัชฌาย์บอกว่า  ยืนรองฉัน  มันใส่แบบไหนถึงทั้งนั้น  ในวันต่อมา  เขาใส่บาตรพระตามระเบียบ  ใส่บาตรที่ 1 เขาไม่เห็นบาตรที่ 2 ไปใส่บาตรที่ 3  พอวันต่อมาพระอุปัชฌาย์บอกว่า คุณยืนรองฉัน  ท่านเอามือจับบาตรไว้  เขาจึงเห็นบาตรของท่าน

                        นี่การให้ทานถ้าบารมีไม่เต็มจริง ๆ  ถ้าไปโดนเข้าแบบนี้  เราจะถูกความหิวทรมานขนาดไหน  แต่นั่นบังเอิญเป็นบารมีของท่านเต็มจะได้เป็นพระอรหันต์  ยังต้องถูกทรมานจิตใจแบบนั้น  เห็นโทษเห็นทุกข์แห่งการเกิด  พระอุปัชฌาย์แนะนำไม่นานนักท่านก็เป็นพระอรหันต์  เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วชาวบ้านก็เห็นบาตร  เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว

                        นี่การให้ทานน่ะมีความสำคัญอย่างนี้นะ  จงอย่าคิดว่าเราต้องการเฉพาะพระนิพพาน  เราไม่ให้ทาน  เราเอาเฉพาะศีลภาวนา  อันนี้ไม่ได้  ท้องไม่อิ่มนี่มันภาวนาไม่ไหว มันจะตายเอา  ดีไม่ดีมันเป็นโจร

                        การให้ทานของบรรดาท่านพุทธบริษัท  เราจะต้องให้  ถ้าบุญบารมีของเรายังไม่เต็มเพียงใด  เราก็เอาละ  เราจะต้องใช้ต้องกิน  แต่ถ้าบุญบารมีเต็ม  เราก็จะมีความอุดมสมบูรณ์  อย่างตัวอย่างท่านพระสิวลี

                        ท่านพระสิวลีนี้  ชาติหนึ่งเป็นชาวป่า  วันนั้นเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสมัมาสัมพุทธเจ้า  ทรงพระนามว่า  พระพุทธกัสสป  เทศน์บอกว่า

                        คนใดให้ทานด้วยตนเอง  เมื่อตายไปชาติหน้า  จะมีโภคสมบัติมากแต่ไม่มีบริวารสมบัติ (ตามที่เล่ามาแล้ว)
                        บุคคลใดชักชวนบุคคลอื่น แต่ไม่ให้ทานเอง  จะมีพวกมากแต่ว่ายากจน
                        ให้ทานเองด้วย ชวนบุคคลอื่นด้วย เกิดไปชาติหน้าเป็นคนรวยด้วย มีพวกมากด้วย
                        แล้วก็ ไม่ให้ทานด้วยตนเองด้วย ไม่ชักชวนชาวบ้านด้วย  เกิดเป็นคนยากจนไม่มีคนคบหาสมาคม  ขอทานก็ยาก

                        ชาวบ้านจึงตั้งใจถวายทานกันอย่างหนัก มีทุกอย่าง แต่มันขาดน้ำผึ้งสด  หาเท่าไรก็ไม่ได้  ตั้งคนไว้ที่ประตูเมือง 4 ประตู  ให้เงินไว้ 1,000 กหาปณะ (เท่ากับ 4,000 บาทสมัยนี้)  บอกว่า  ถ้าใครเอาน้ำผึ้งสดมา นำรวงผึ้งสดมาจะซื้อ จาก 1 กหาปณะ ไปจนถึง 1,000 กหาปณะ

                        พอดีท่านสิวลีเป็นชาวป่า  ท่านจะมาหาเพื่อนในเมือง  ไม่มีอะไรติดมือมาก็เลยเอาผึ้งมารวมงหนึ่ง  พอพวกนั้นเห็นเข้าก็ขอซื้อตั้งแต่ 1 กหาปณะ ถึง 1,000 กหาปณะ

                        ท่านบอกว่า  ฉันจะเอาไปให้เพื่อน  ก็สงสัยว่า  ผึ้งรวงนี้จริง ๆ ราคาไม่ถึง 1 กหาปณะ  แต่เจ้าคนนี้ให้มาก ๆ  คงจะสติไม่ดีหรืออาจจะมีเหตุใดเหตุหนึ่งเกิดขึ้น  มีความจำเป็น  จึงถามว่า

                        ทำไมพวกท่นสติไม่ดีรึ  ไอ้ผึ้งรวงหนึ่งราคาตั้ง 1,000 กหาปณะ  ใครเขาซื้อขายกัน  ราคามันไม่ถึง 1 กหาปณะ

                        เขาก็บอกว่า  พวกเราจะทำบุญ แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีหมด  มันขาดอยู่น้ำผึ้งสดอย่างเดียว  เราต้องการมีทุกอย่าง

                        ท่านก็บอกว่า  ถ้าซื้อไม่ขาย  แต่จะเอาไปให้เพื่อน  แต่ว่าท่านจะให้ฉันร่วมบุญด้วย  ฉันให้

                        ท่านสิวลีก็ให้เป็นการปิดรายการครบถ้วนพอดี  เขาขาดอย่างนั้น  ท่านปิดพอดี มันก็ปิดให้เต็ม

                        หลังจากชาตินั้นมาแล้ว  ท่านมาพบองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว  เกิดในชาตินี้มาเกิดในชาติหลังนี่เขาบอกว่า  ท่านพระสิวลีนี่ไม่เคยมีโรคเลย  โรคภัยไข้เจ็บไม่เคยมี  เป็นพระที่มีลาภจริง ๆ  จะไปไหนก็ตาม  คนก็ดี เทวดาก็ดี  ปรารภพระสิวลี  ถ้าพระสิวลีไปด้วย ไม่มีคำว่าอด  จะมีความอุดมสมบูรณ์  แม้แต่เดินเข้าไปในป่าที่ไม่มีบ้าน

                        ในสมัยที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารจะเข้าไปเยี่ยมพระเรวัติในป่าสะแก  ที่ว่าเป็นน้องพระสารีบุตร  อายุ  7  ปี เป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ  เวลาเดินเข้าไป  ตอนจะไปเจอะถึงทางสองแพร่ง  พระพุทธเจ้าจึงได้ถามพระอานนท์ว่า  อานนท์  ทางไปหาพระ
เรวัตไปทางไหน
 
 ความจริงท่านทราบ  พระอานนท์บอกว่า  ถ้าไปทางอ้อมทางนี้เดินทาง 60 โยชน์  มีบ้านบิณฑบาตรตลอด  ทางนี้เป็นทางตรง เดินไป 30 โยชน์ ไม่มีบ้านใส่บาตร

                        สมเด็จพระบรมโลกนาถจึงตรัสถามว่า  สิวลีมาหรือเปล่า  แต่ความจริงท่านก็รู้ว่ามา  แต่ต้องการจะประกาศความดี

                        พระอานนท์ก็กราบทูลว่า  มาพระพุทธเจ้าข้า

                        พอพระพุทธเจ้าตัดสินใจว่าจะไปทางตรงบรรดารุกขเทวดาและอากาศเทวดาทั้งหลาย   ต่างคนต่างปรารภว่าเวลานี้หลวงพ่อสิวลีของเรามา   ความจริงพระโมคคัลลาน์พระสารีบุตรก็ไป  พระพุทธเจ้าเสด็จด้วย  แต่เทวดาไม่ได้ปรารภถึงเลย  ปรารภเฉพาะท่านพระสิวลี  จึงเนรมิตเรือนแก้ว กุฏิเป็นที่พัก  วัดเป็นที่พัก สำหรับพระ 500 รูป  เป็นเรือนแก้วไว้แต่ละโยชน์ ๆ  1 โยชน์มี 1 วัด  สร้าง 30 วัด เป็น 30 โยชน์

                        เมื่อพระพุทธเจ้าไปถึงวัดต่าง ๆ  เขาก็แสดงตนเป็นคนธรรมดา  พระพุทธเจ้าท่านรู้  นิมนต์พักวัดท่านก็พัก  ตอนเช้าท่านนำอาหารการบริโภคเนรมิตจากจิตใจของเทวดา ไม่ต้องหุง  ถวายพระอิ่มหนำสำราญ  แต่การที่เขาถวายน่ะเขาปรารภพระสิวลีว่า  เราจะนำอาหารไปถวายหลวงพ่อสิวลีของเรา  เป็นอย่างนี้จนกระทั่งถึงสำนักของพระเรวัต

                        นี่แหละบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณร และญาติโยมพุทธบริษัท  ท่านพระสิวลีให้ทานด้วยรวงผึ้งรังเดียวปิดรายการแต่ชาติหลัง  ท่านมีความอุดมสมบูรณ์  คนที่มีความอุดมสมบูรณ์จะปฏิบัติธรรมมันก็ดี  ทำอะไรก็ดีทุกอย่าง  มีการคล่องตัว  รวมความว่า มีความปรารถนาสมหวัง  แม้แต่จิตใจคนบางประเภทก็ซื้อได้ แต่บางประเภทเราก็ซื้อใจเขาไม่ได้นะเงินน่ะ  แต่บางประเภทเวลานี้ฟุ่มเฟือยมาก  การซื้อก็ซื้อด้วยเงินสะดวก อันนี้มีประโยชน์มาก  ฉะนั้น  ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทหรือเพื่อนภิกษุสามเณร  จงสนใจในการให้ทานให้มาก  เพราะว่าการให้ทานนี่ไม่ใช่จะหวังเฉพาะการร่ำรวยอย่างเดียว  การให้ทานเป็นปัจจัยของความสุข ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

                        การให้ทานนี่ขอพูดถึงอานิสงส์ของการให้ทานสักนิดหนึ่ง  คืออานิสงส์ของทานในชาติปัจจุบัน  เราจะเห็นได้ชัด ๆ จริง ๆ  นั่นก็คือว่า  ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของบุคคลผู้รับ คือว่าคนผู้ให้มีโอกาสชื่นใจว่า  เราได้ให้ทาน  แต่ว่าบางคนน่ะ บางพวก จอมอกตัญญูไม่รู้คุณคนนี่เยอะเหมือนกันนะ  อย่าลืมว่าผมโดนมาแล้ว  โดนมาตลอดชีวิต  ให้แล้วมันก็กัด  แต่ผมก็ไม่ได้ผูกใจเจ็บ  ผมถือว่าเป็นความชั่วของเขา  ผมไม่ยอมชั่วด้วย  ไอ้ผมนั้นก็เลวอยู่แล้ว  ถ้าจะไปโกรธเขาเข้ามันจะเลวมากขึ้น  มันจะแบกไม่ไหว  เอาแค่ความเลวที่มีอยู่ มันก็เดินตุปัดตุเป๋ไปแล้ว  เวลานี้ผมเดินตุปัดตุเป๋ไม่ตรงทาง  หนักความชั่ว ความชั่วมีเยอะมหาศาล  แต่ว่าพวกนั้นเขากลั่นเขาแกล้ง  เขากินอิ่มเข้าไปแล้วเขาคิดจะฆ่าผม  คิดจะไล่ผม  เขาชุมนุมกันเยอะแยะ  เวลาที่พูดอยู่นี่ก็ยังมีร้องเรียนไปที่ไหน ๆ  ไปลงหนังสือพิมพ์ด่าบ้าง ฟ้องไปทุกระดับ  จนกระทั่งสำนักนายก  เขาหาว่าคนของผมโหดร้าย  แต่ผมไม่เคยแตะต้องอะไรเขาเลย แต่พวกนี้เป็นอย่างไร  ได้ประโยชน์มากเลย  คิดว่าถ้าผมไปเสียแล้วเขาจะได้ประโยชน์จากผม  หมายความว่าคนจะมาหาเขา  เขาจะร่ำรวยเขานึกว่าผมรวย ก่อสร้างต่างๆ 
นา  ๆ ญาติโยมท่านให้สร้าง  ญาติโยมท่านให้เก็บ  แต่จริง ๆ การก่อสร้างนี่เหน็ดเหนื่อยหนักใจหนักกาย  แต่เพื่อความดีของญาติโยม  ผมไม่เหนื่อย ไม่หนัก  ผมปลื้มใจ  เพราะญาติโยมทำความดี  ทุกคนเขาจะพ้นทุกข์กัน  ฉะนั้น  เราจะกักให้เขาอยู่ในแดนความทุกข์ยังไง  ต้องสนองสนับสนุนตามที่พระพุทธเจ้าสนับสนุนแบบไหน  เราทำกันแบบนั้น

                        นี่แหละบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทุกท่าน  ต้องจำไว้ว่า  การให้ทานน่ะมันก็มีการสะดุดแบบนี้  แต่เราจงอย่าคิด  คิดอย่างเดียวว่าจิตใจของเราเป็นสุข  สุขเพราะการเกื้อกูลแก่เพื่อน  ในเมื่อเราให้เขา  ถ้ามีคนรัก ไอ้คนรักเรามาก ๆ ก็มี ไม่ใช่เลว  คนเลวมันน้อยกว่าคนดี  ให้ทานแก่บุคคลที่รู้คุณคนนี่มี  แต่เราอย่าไปคิด  คิดอย่างเดียวให้ทานเพื่อเป็นการสงเคราะห์  เรามีน้อยเราให้น้อย  เรามีมากเราให้มาก  ให้พอควรอย่าให้เกินพอดี  อย่าให้เบียดเบียนตนเอง  อย่าให้ถึงกับตัวมีทุกข์  ผลแห่งการให้ทานจริง ๆ มันก็มีประโยชน์ใหญ่ ไปที่ไหนมีแต่คนรู้จัก  ความจริงเราไม่รู้จัก จำเขาไม่ได้หรอก  จำเขาไม่ได้จริง ๆ  อย่างพวกท่านก็เคยไปกับผม  ไปถึงญาติโยมก็มาหากัน  ไปถึงก็หลวงพ่อ  หลวงปู่  หลวงน้า  ผมมองหน้าผมจำไม่ได้   แต่ว่าท่านมาด้วยความดี ผมปลื้มใจ ผมก็ดีใจ  บางคราวท่านมากันมากในที่บางแห่ง  จนกระทั่งผมฉันข้าวไม่ได้  ฉันข้าวไม่ได้ไม่ใช่ญาติโยมจะมากวนใจผมหรอก ผมปลื้มใจในความดีของญาติโยม

                        นี่แหละบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลาย  การให้ทานน่ะ  ชาติปัจจุบันเราก็มีความสุขมาก  ทั้งนี้เพราะอะไร  มีคนเขาสนใจเรามาก ประคับประคองเรามาก  ป้องกันอันตรายให้  แต่อันตรายถ้ามันจะเกิดจากกฎของกรรม  ก็อย่าไปโทษว่าทานไม่ช่วยนะ  คิดไว้เสมอว่า  กรรมที่เราทำไว้ในชาติก่อนมันตามมาเล่นงานเรายังไงก็ช่างมัน  ชาตินี้ทำหนีมันไปให้ได้  อันดับแรกเอาทานบารมีเข้าชนกับมันก่อน  เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เราพอมีความสุข  คนที่เขาดีมีความกตัญญูรู้คุณ  เขาก็ให้การประคบประหงมเรา ให้ความสนิทสนมกับเรา เป็นที่รักของเรา เราก็ชื่นใจในความสุข  เว้นไว้แต่คนจังไรที่มีความอกตัญญูไม่รู้คุณ  เขามีความทุกข์ปล่อยให้เขาทุกข์ไปฝ่ายเดียว  เราอย่าทุกข์กับเขา  ถ้ากำลังใจของเราอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นทานที่มีกำลังยิ่งใหญ่  ชาตินี้มีความสุข  ชาติหน้าจะยิ่งสุขยิ่งไปกว่านี้  ถ้าบังเอิญบารมีของเรายังไม่ถึงที่สุดในชาตินี้  ก็อาจจะไปตกในชาติหน้าอย่างท่านเมณฑกเศรษฐี กับคณะก็ได้

(คัดลอกมาจากหนังสือธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ฉบับที่ 52 เรื่องบารมี 10)

(จากหนังสือรวมคำสอนพระสุปฏิปันโน เล่ม 1)