มาสร้างความร่ำรวยที่แตกต่างกันครับ กับเรื่องของบุญ บุญเป็นชื่อของความสุข และเป็นความสุขที่แท้จริง จากนี้ไปสิ่งดีๆๆที่ทานสร้างลงมือทำด้วยความตั้งใจขอให้ รวยแบบไม่มีเหตุผลทุกคนครับ
วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
ภาพพุทธประวัติ วัยเยาว์
ภาพพุทธประวัติ วัยเยาว์
ทรงรับคำเชิญ แล้วจุติมากำเนิดในตระกูลกษัตริย์ศากยะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์
เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าชุมนุมกันอัญเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ให้ จุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์สวรรคตแล้ว เสด็จไปอุบัติเป็นสันตุสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิตเมื่อก่อนพุทธกาลเล็กน้อย เทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาประชุม ปรึกษากันว่า ใครจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่างก็เล็งว่า พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในชั้นดุสิตจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันไปทูลเชิญให้จุติลงมาโปรดสัตวโลก เพื่อให้สมกับพระปณิธานที่ตั้งไว้ว่า ทรงบำเพ็ญบารมีมาในชาติใดๆ ก็มิได้ทรงมุ่งหวังสมบัติอันใด นอกจากความเป็นพระพุทธเจ้า
ทรงรับคำเชิญ แล้วจุติมากำเนิดในตระกูลกษัตริย์ศากยะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์
ภาพนี้เป็นภาพตอนที่พระโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งต่อมาคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อเสด็จเข้าสู่พระครรภ์พระมารดา วันที่เสด็จลงบังเกิดนั้น ตรงกับวันขึ้น ๑๕ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นเวลาที่พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดา กับพระนางสิริมหามายา พระมารดา ได้อภิเษกสมรสไม่นาน
คืนวันเดียวกันนั้น พระนางสิริมหามายากำลังบรรทมหลับสนิทในแท่นที่บรรทมแล้ว ทรงสุบินนิมิตว่าพระนางไปอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มีช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูงเข้ามาหาพระนางปฐมสมโพธิพรรณาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
"...มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง...ชูงวงอันจับบุณฑริกปทุมชาติสีขาวเพิ่งบานใหม่ มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตรลบแล้วร้องโกญจนาทเข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมถ้วนสามรอบแล้วเหมือนดุจเข้าไปในอุทร ฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี..."
ภายหลังโหราจารย์ประจำราชสำนักทำนายว่าเป็นสุบินนิมิตที่ดี จะมีพระราชโอรสผู้ประเสริฐอุบัติบังเกิด และเมื่อพระมารดาทรงครรภ์แล้ว ปฐมสมโพธิได้พรรณาตอนที่พระโพธิสัตว์เสด็จอยู่ในพระครรภ์พระมารดาว่า
"...เหมือนดุจด้ายเหลือง อันร้อยเข้าไปในแก้วมณีอันผ่องใส เมื่อปรารถนาจะทอดพระเนตรในขณะใด ก็เห็นพระโอรสนั่งเป็นบัลลังก์สมาธิ (นั่งขัดสมาธิ) ผันพระพักตร์มาข้างหนึ่งพระอุทรแห่งพระมารดา ดุจสุวรรณปฎิมาอันสถิตอยู่บนฝักอ่อนในห้องแห่งกลีบปทุมชาติ แต่โพธิสัตว์มิได้เห็นองค์ชนนี..."
วันที่พระโพธิสัตวเจ้าเสด็จลงสู่พระครรภ์ กวีผู้แต่งเรื่องเฉลิมพระเกียรติได้พรรณาว่า มีเหตุมหัศจรรย์เกิดขึ้นเหมือนกับตอนประสูติ ตรัสรู้ และตรัสปฐมเทศนา จะต่างกันบ้างก็แต่ในรายละเอียดเท่านั้นเช่นว่า กลองทิพย์บันลือลั่นทั่วท้องเวหา คนตาบอดกลับมองเห็น คนหูหนวกกลับ ได้ยิน
ตอนนั้น ถ้าจะถ่ายทอดพระพุทธเจ้าออกจากวรรณคดี มาเป็นพระพุทธเจ้าในพุทธประวัติก็ว่ากลองทิพย์บันลือลั่นนั้น คือ 'นิมิต' หมายถึง พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าที่จะแผ่ไปทั่วโลก คนตาบอดหูหนวก คือ คนที่มีกิเลส ได้สดับรสธรรมแล้วจะหายตาบอด หูหนวก หรือมีปัญญารู้แจ้งมองเห็นทางพ้นทุกข์นั้นเอง
พอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว
ทารกที่เห็นนั่นคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา ซึ่งพอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ก็ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทไปได้ ๗ ก้าว พร้อมกับทรงยกพระหัตถ์ขวาและเปล่งพระวาจา เบื้องใต้พระบาทมีดอกบัวรองรับ พระวาจาที่ทรงเปล่งออกมานั้น กวีท่านแต่งไว้เป็นภาษาบาลีแปลถอดใจความเป็นภาษาไทยได้ว่า
"เราจะเป็นคนเก่งที่สุดในโลกคนหนึ่ง ซึ่งจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่มี ชาติที่เกิดนี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่ได้เกิดต่อไปในเบื้องหน้าอีกแล้ว"
กลุ่มสตรีที่อยู่ในท่านั่งบ้าง คุกเข่าบ้าง นั้นคือบรรดานางพระกำนัลที่ตามเสด็จพระนางมายา ส่วนรูปสตรีที่ยืนหันหลังให้ต้นไม้ใหญ่นั้นคือพระมารดา พระหัตถ์ขวาของท่านเหนี่ยวกิ่งไม้ ต้นไม้ใหญ่นี้คือต้นสาละ ที่แต่ก่อนมาเคยแปลกันว่าไม้รังหรือเต็งรังอย่างที่มีอยู่ในบ้านเรา แต่ภายหลังได้เป็นที่รู้กันว่า สาละไม่ใช่ไม้รัง และไม่มีในป่าเมืองไทย เป็นไม้พันธุ์ในตระกูลยางซึ่งมีอยู่ในอินเดียที่คนอินเดียนิยมใช้ปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่กัน มีมากในเขาหิมาลัย
สถานที่ประสูตินี้เรียกว่า 'ลุมพินี' อยู่นอกเมืองกบิลพัสดุ์ เวลานี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล
แทรกเรื่องอื่นเข้าบ้างเล็กน้อย กล่าวคือเมืองพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้ามีสองเมือง คือกบิลพัสดุ์ และเทวทหะ กบิลพัสดุ์เป็นเมืองพ่อของพระพุทธเจ้า นี้ว่าอย่างภาษาสามัญ ส่วนเทวทหะเป็นเมืองแม่ พระบิดาของพระพุทธเจ้าอยู่ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ส่วนพระมารดาเดิมอยู่ที่เมืองเทวหะ กษัตริย์และเจ้านายจากสองเมืองนี้ต่างเป็นญาติเกี่ยวดองกันโดยทางอภิเษกสมรส
เมื่อพระนางมายาจวนครบกำหนดประสูติ จึงทูลลาพระสามี คือพระเจ้าสุทโธนะ เพื่อประสูติพระโอรสที่เมืองอันเป็นราชตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่ว่า สตรีเวลาจะคลอดลูกต้องไปคลอดที่บ้านพ่อแม่ของตน พระนางมายาเสด็จไปถึงระหว่างทางยังไม่ทันถึงเมืองเทวทหะ ทรงประชวรเสียก่อน เลยจึงประสูติที่นั่น
วันที่พระพุทธเจ้าประสูตินั้นคือ วันเพ็ญกลางเดือน ๖
อสิตดาบสมาเยี่ยม เห็นกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะก็ถวายบังคม
ภาพนี้เป็นตอนภายหลังพระพุทธเจ้าประสูติแล้วใหม่ๆ คือภายหลังพระพุทธบิดาทราบข่าวพระนางมายาประสูติพระโอรสระหว่างทางที่สวนลุมพินี แล้วรับสี่งให้เสด็จกลับเมืองแล้ว
ผู้ที่มุ่นมวยผมเป็นชฎา และมือทั้งสองประนมแค่อกที่เห็นอยู่นั้นคือ 'อสิตดาบส' หรือบางแห่งเรียกว่า 'กาฬเทวินดาบส' ท่านดาบสผู้นี้บวชเป็นฤาษีอยู่ข้างเขาหิมพานต์ หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่าเขาหิมาลัยนั่นเอง ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและของราชตระกูลนี้ และเป็นผู้คุ้นเคยด้วย
เมื่อท่านทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะ ประมุขกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ทรงมีพระราชโอรสใหม่ จึงออกจากอาศรมเชิงเขา เข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อถวายพระพรยังราชสำนัก พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่าท่านดาบสมาเยี่ยม ก็ทรงดีพระพระทัยนักหนา จึงตรัสสั่งให้นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะแล้วทรงอุ้มพระราชโอรสออกมาเพื่อให้นมัสการท่านดาบส
พอท่านดาบสได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ทำกริยาผิดวิสัยสมณะ ๓ อย่าง คือ ยิ้มหรือแย้มหรือที่ภาษากวีในหนังสือปฐมสมโพธิเรียกอย่างหนึ่งว่า หัวเราะแล้วร้องไห้ แล้วกราบแทบพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะ
ท่านยิ้มเพราะเห็นพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะต้องด้วยตำรับมหาบุรุษลักษณ์ ท่านเห็นว่า คนที่มีลักษณะอย่างนี้ ถ้าอย่างครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไปไกล แต่ถ้าได้ออกบวชจะได้เป็นพระศาสดาผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ที่ท่านร้องไห้ก็เพราะเชื่อแน่ว่าเจ้าชายราชกุมารนี้ จะต้องออกบวช เพราะเหตุที่เชื่ออย่างนี้ เลยนึกถึงตัวท่านเองว่า เรานี่แก่เกินการณ์เสียแล้ว เลยเสียใจว่ามีบุญน้อย ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และที่กราบไหว้พระบาทราชกุมารที่เพิ่งประสูติใหม่ ก็เพราะเหตุเดียวที่กล่าวนี้
ฝ่ายเจ้านายในราชตระกูลได้เห็นและได้ทราบข่าวว่า ท่านดาบสกราบพระบาทราชกุมาร ต่างก็มีพระทัยนับถือพระราชกุมารยิ่งขึ้น จึงทูลถวายโอรสของตนให้เป็นบริวารของเจ้าชายสิทธัตถะ ตระกูลละองค์ๆ ทุกตระกูล
พราหมณาจารย์รับพระลักษณะสมโภชพระกุมาร ถวายพระนามว่า พระสิทธัตถะ
ภายหลังเจ้าชายราชกุมารผู้พระราชโอรสประสูติได้ ๕ วันแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาได้โปรดให้มีการประชุมใหญ่ ผู้เข้าประชุมมีพระญาติวงศ์ ทั้งฝ่ายพระบิดาและฝ่ายพระมารดา มุขอำมาตย์ ราชมนตรี และพราหมณ์ผู้รอบรู้ไตรเวท เพื่อทำพิธีมงคลในการนี้คือพราหมณ์ มีทั้งหมด ๑๐๘แต่พราหณ์ผู้ทำหน้าที่นี้จริงๆ มีเพียง ๘ นอกนั้นมาในฐานะคล้ายพระอันดับ พราหมณ์ทั้ง ๘ มีรายนามดังนี้ คือ
๑. รามพราหมณ์ ๕. โภชพราหมณ์
๒. ลักษณพราหมณ์ ๖. สุทัตตพราหมณ์
๓. อัญญพราหมณ์ ๗. สุยามพราหมณ์
๔. ธุชพราหมณ์ ๘. โกณทัญญพราหมณ์
ที่ประชุมลงมติขนานพระนามพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายสิทธัตถะ' ซึ่งเป็นมงคลนาม มีความหมายสองนัย นัยหนึ่งหมายความว่า ผู้ทรงปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จสิ่งนั้นดังพระประสงค์ อีกนัยหนึ่งหมายความว่าพระโอรสพระองค์แรกสมดังที่พระราชบิดาทรงปรารถนา แปลให้เป็นเข้าสำนวณไทยในภาษาสามัญก็ว่า ได้ลูกชายคนแรกสมตามที่ต้องการ
พระนามนี้ คนอินเดียทั่วไปในสมัยนั้นไม่นิยมเรียก แต่นิยมเรียกพระโคตรแทน 'พระโคตร'ตรงกับภาษาไทยทุกวันนี้ว่า 'นามสกุล' คนจึงนิยมเรียกพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายโคตมะ' หรือ 'โคดม'
พร้อมกันนี้ พราหมณ์ทั้ง ๘ ก็พยากรณ์พระลักษณะ คำพยากรณ์แตกความเห็นเห็นเป็น ๒กลุ่ม พราหมณ์ ๗ คน ตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึงหมายเลข ๗ ตามรายนามที่ระบุไว้แล้ว มีความเห็นเป็นเงื่อนไขในคำพยากรณ์ ถ้าเจ้าชายนี้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติ จักได้ทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพมาก แต่ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก
มีพราหมณ์หนุ่มอายุเยาว์คนเดียวที่พยากรณ์เป็นมติเดียวโดยไม่มีเงื่อนไขว่า พระราชกุมารนี้จักเสด็จออกทรงผนวช และได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน พราหมณ์ผู้นี้ต่อมาได้เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้า และได้เป็นพระอรหันตสาวกองค์แรกที่รู้จักกันในนามว่า 'พระอัญญาโกณทัญญะ' นั่นเอง ที่เหลืออีก ๗ ไม่ได้ตามเสด็จออกบวช เพราะชรามาก อยู่ไม่ทันสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช
ทรงบรรลุปฐมฌานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขณะประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญ
ภาพนี้เป็นตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะโคตมะมีพระชนมายุ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระภายในพระราชนิเวศน์ ให้เป็นที่สำราญพระทัยพระโอรส สระโบกขรณี คือ สระที่ปลูกดอกบัวประทับในสระ แล้วพระราชทานเครื่องทรงคือ จันทน์สำหรับทาผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์ผ้าทรงสะพัก พระภูษาทั้งหมดเป็นของมีชื่อมาจากเมืองกาสีทั้งนั้น
ตอนที่เห็นในภาพนี้ เป็นตอนที่เจ้าชายประทับนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้ ที่ภาษาปฐมสมโพธิเรียกว่า 'ชมพูพฤกษ์' ซึ่งคนไทยเราเรียกต้นหว้านั่นเอง เหตุที่เจ้าชายมาประทับอยู่ใต้ต้นหว้าแห่งนี้ ก็เพราะพระราชบิดาทรงจัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ทุ่งนานอกเมืองกบิลพัสดุ์ตามพระราชประเพณีพระราชบิดา ซึ่งเสด็จแรกนาด้วยพระองค์เอง หรือจะเรียกว่าทรงเป็นพระยาแรกนาเสียเองก็ได้ ได้โปรดให้เชิญเสด็จเจ้าชายไปด้วย
ภาพที่เห็นนี้อีกเหมือนกัน จะเห็นเจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ลำพังพระองค์เดียว ไม่เห็นพระสหาย พระพี่เลี้ยง และมหาดเล็กอยู่เฝ้าเลย เพราะทั้งหมดไปชมพระราชพิธีแรกนากัน เจ้าชายเสด็จอยู่ลำพังพระองค์ภายใต้ต้นหว้าที่กวีท่านพรรณาไว้ว่า "กอปรด้วยสาขาแลใบ อันมีพรรณอันเขียว ประหนึ่งอินทนิลคีรี มีปริมณฑลร่มเย็นเป็นรมณียสถาน..." พระทัยอันบริสุทธิ์ และอย่างวิสัยผู้จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ได้รับความวิเวกก็เกิดเป็สมาธิขั้นแรกที่เรียกว่า "ปฐมฌาน"
แรกนาเสร็จตอนบ่าย พระพี่เลี้ยงวิ่งมาหาเจ้าชาย ได้เห็นเงาไม้ยังอยู่ที่เดิมเหมือนเวลาเที่ยงวันไม่คล้อยตวงตะวันก็เกิดอัศจรรย์ใจ จึงนำความไปกราบพระเจ้าสุทโธนะให้ทรงทราบ พระราชบิดาเสด็จมาทอดพระเนตรก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย แล้วก็ทรงออกพระโอษฐ์อุทานว่า "กาลเมื่อวันประสูติ จะให้น้อมพระองค์ลงถวายนมัสการพระกาฬเทวินดาบสนั้น ก็ทำปาฎิหาริย์ขึ้นไปยืนเบื้องบนชฎาพระดาบส อาตมก็ประณตเป็นปฐมวันทนาการครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้อาตมก็ถวายอัญชลีเป็นทุติยวันทนาการคำรบสอง"
พระเจ้าสุทโธทนะทรงไหว้พระพุทธเจ้าที่สำคัญ ๓ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อภายหลังประสูติที่ดาบสมาเยี่ยม เห็นท่านดาบสไหว้ก็เลยไหว้ ครั้งที่สองก็คือ ครั้งทรงเห็นปาฏิหาริย์ ครั้งที่สามคือ ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ได้สำเร็จพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดาครั้งแรก
ทรงประลองศิลปศาสตร์ยกศรอันหนัก ดีดสายศรเสียงสนั่นกระหึ่มเมือง
พอเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุพอสมควรแล้ว พระราชบิดาจึงทรงส่งไปศึกษาศิลปวิทยาที่สำนักครูที่มีชื่อว่า 'วิศวามิตร' เจ้าชายทรงศึกษาการใช้อาวุธ และการปกครองได้ว่องไวจนสิ้นความรู้ของอาจารย์
ภาพที่เห็นนี้ เป็นตอนเจ้าชายสิทธุตถะทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีแล้ว และทรงศึกษาศิลปวิทยาจบแล้ว พระราชบิดาจึงตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ ฤดู เป็นจำนวน ๓ หลัง ให้ประทับเป็นที่สำราญพระทัย ปราสาทหลังที่หนึ่งเหมาะสำหรับประทับในฤดูหนาว หลังที่สองสำหรับฤดูร้อน ทั้งสองหลังนี้จะมีอะไรเป็นเครื่องควบคุมอุณหภูมิไม่ทราบได้ และหลังที่สามสำหรับประทับในฤดูฝน
หลังจากนั้น พระราชบิดาได้ทรงแจ้งไปยังพระญาติวงศ์ทั้งสอง คือฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดา ให้จัดส่งพระราชธิดามาเพื่อคัดเลือกสตรีผู้สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชาย ทั้งนี้เพราะพราะราชบิดาทรงต้องการจะผูกมัดพระราชโอรสให้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติมากกว่าที่จะให้เสด็จออกทรงผนวช
แต่พระญาติวงศ์ทั้งปวงเห็นว่า ควรจะให้เจ้าชายได้แสดงความสามารถในศิลปศาสตร์ที่ทรงเล่าเรียนมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่หมู่พระญาติก่อน พระราชบิดาจึงอัญเชิญพระญาติวงศ์มาประชุมกันที่หน้าพระมณฑปที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่ ณ ใจกลางเมืองเพื่อชมเจ้าชายแสดงการยิงธนู
ธนูที่เจ้าชายยิงมีชื่อว่า 'สหัสถามธนู' แปลว่า ธนูที่มีน้ำหนักขนาดที่คนจำนวนหนึ่งพันคนจึงจะยกขึ้นได้ แต่เจ้าชายทรงยกธนูนั้นขึ้นได้ ปฐมสมโพธิให้คำอุปมาว่า 'ดังสตรีอันยกขึ้นซึ่งไม้กงดีดฝ้าย'บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงได้เห็นแล้วต่างชื่นชมยิ่งนัก แล้วเจ้าชายทรงลองดีดสายธนูก่อนยิง เสียงสายธนูดังกระหึ่มครึ้มคราวไปทั้งกรุงกบิลพัสดุ์ จนคนทั้งเมืองที่ไม่รู้และไม่ได้มาชมเจ้าชายยิงธนู ต่างถามกันว่านั่นเสียงอะไร
เป้าที่เจ้าชายยิงธนูวันนั้น คือ ขนหางทรายจามรีที่วางไว้ในระยะหนึ่งโยชน์ ปรากฏว่า เจ้าชายทรงยิงถูกขาดตรงกลางพอดี ทั้งนี้ท่านว่า 'ด้วยพระเนตรอันผ่องใสพร้อมด้วยประสาททั้ง ๕ อันบริสุทธิ์อันปราศจากมลทิน' พระญาติวงศ์ทั้งปวง จึงยอมถวายพระราชธิดา ซึ่งมีนางพิมพายโสธรารวมอยู่ด้วย เพื่อคัดเลือกเป็นพระชายา
พระบิดาทรงอภิเษกสมรสพระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา
ดังได้เคยบรรยายไว้ ณ ที่นี้มาแล้วว่า พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้านั้นมีสองฝ่าย คือฝ่ายพระมารดา และฝ่ายบิดา ทั้งสองฝ่ายอยู่คนละเมือง มีแม่น้ำโรหิณีไหลผ่านเป็นเขตกั้นพรมแดนพระญาติวงศ์ฝ่ายมารดามีชื่อว่า 'โกลิยวงศ์' ครองเมืองเทวทหะ พระญาติวงศ์ฝ่ายพระบิดาชื่อ 'ศากยวงศ์' ครองเมืองกบิลพัสดุ์
ทั้งสองนครนี้เกี่ยวดองเป็นพระญาติกัน มีความรักกันฉันพี่น้องร่วมสายโลหิต ต่างอภิเษกสมรสกันและกันเสมอมา สมัยพระพุทธเจ้า ผู้ทรงอยู่ในฐานะประมุขครองเมืองเทวทหะ คือ พระเจ้าสุปปพุทธะ ส่วนผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ก็เป็นที่ทราบอยู่แล้ว คือ พระเจ้าสุทโธทนะ
พระชายาของพระเจ้าสุปปพุทธะ มีพระนามว่าพระนางอมิตา เป็นกนิษฐภคินี คือ น้องสาวคนเล็กของพระเจ้าสุทโธทนะ กลับกันคือ พระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระมารดาของพระพุทธเจ้ามีพระนามว่าพระนางมายา พระนางเป็นน้องสาวของพระเจ้าสุปปพุทธะ ทั้งสองทรงอภิเษกสมรสกับพระภคินีของกันและกัน พระเจ้าสุปปพุทธะมีโอรสและพระธิดาอันเกิดกับพระนางอมิตาสองพระองค์ พระโอรสคือ เทวทัต พระธิดา คือ พระนางพิมพายโสธรา
ปฐมสมโพธิว่าพระนางพิมพายโสธราเป็นผู้หนึ่งในจำนวน ๗ สหชาติของพระพุทธเจ้า สหชาติคือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันกับวันที่พระพุทธเจ้าเกิด ๗ สหชาตินั้น คือ
๑. พระนางพิมพายโสธรา
๒. พระอานนท์
๓. กาฬุทายีอำมาตย์
๔. นายฉันนะ มหาดเล็ก
๕. ม้ากัณฐกะ
๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
๗. ขุมทองทั้ง ๔ (สังขนิธี, เอลนิธี, อุบลนิธี, บุณฑริกนิธี)
พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายทรงเห็นพร้อมกันว่า พระนางพิมพายโสธราทรงพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชพิธีอภิเษกสมรสจึงได้มีขึ้นในสมัยที่ทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีพอดี
เสด็จประพาสสวน ทรงเห็นเทวฑูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต
พระเจ้าสุทโธทนะผู้มีพระราชบิดา และ พระญาติวงศ์ทั้งปวงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จอยู่ครองราชสมบัติ มากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชาอย่างที่คำทำนายของพราหมณ์บางท่านว่าไว้ จึงพยายามหาวิธีผูกมัดพระโอรสให้เพลิดเพลินในกามสุขทุกอย่าง แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระอัธยาศัยเป็นนักคิดสมกับที่ทรงเกิดมาเป็นพระศาสดาโปรดชาวโลก จึงทรงยินดีในความสุขนั้นไม่นาน พอพระชนมายุมากขึ้นจนถึง ๒๙ ก็ทรงเกิดนิพพิทา คือ ความเบื่อหน่าย
ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในพระทัยเช่นนั้น อยู่ที่ทรงเห็นสิ่งที่เรียกว่า เทวฑูตทั้ง ๔ ระหว่างทางในวันเสด็จประพาสพระราชอุทยานนอกเมืองด้วยรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วยสารถีคนขับ เทวฑูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทรงเห็นคนแก่ก่อน
ปฐมสมโพธิบรรยายลักษณะของคนแก่ไว้ว่า "มีเกศาอันหงอก แลสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปในเบื้องหน้า มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรควิถี มีอาการอันไหวหวั่นสั่นไปทั่วทั้งกายควรจะสังเวช..."
ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย เช่นเดียวกับเมื่อทรงเห็นคนเจ็บและคนตายในครั้งที่สอง และที่สาม เมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงปรารภถึงพระองค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ทรงพระดำริว่าสภาพธรรมดาในโลกนี้ย่อมมีสิ่งตรงกันข้ามคู่กัน คือ มีมืดแล้ว มีสว่าง มีร้อน แล้วมีเย็น เมื่อมีทุกข์ทางแก้ทุกข์ก็น่าจะมี
ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยานครั้งที่ ๔ ทรงเห็นนักบวช "นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์กอปรด้วยอากัปกิริยาสำรวม..."
เมื่อทรงเห็นนักบวชก็ทรงเกิดพระทัยน้อมไปในทางบรรพชา ทรงรำพึงในพระทัยที่เรียกอีกอย่างหนึ่ง ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "สาธุ ปัพพชา" สองคำนี้เป็นภาษาบาลี แปลให้ตรงกับสำนวนไทยว่า "บวชท่าจะดีแน่" แล้วก็ตัดสินพระทัยว่า จะเสด็จออกบวชตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ตื่นบรรทมกลางดึกเห็นสาวสนมกรมในนอนระเกะระกะ ระอาพระทัยใคร่ผนวช
ตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวฑูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะเสด็จออกบรรพชาเป็นต้นมา แม้ว่าภายหลังจากนั้นจะทรงเกิดบ่วงขึ้นในพระทัย คือทรงมีพระโอรสและมีความรัก แต่ความที่ตั้งพระทัยไว้ว่าจะเสด็จออกบวชก็ไม่เปลี่ยนแปลง
ในคืนวันเสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ตอนหนึ่งว่า "...วันนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์มีพระทัยยินดียิ่งนักในบรรพชา กอปรด้วยพระปัญญาเป็นปราชญ์อันประเสริฐ ปราศจากอาลัยในเบญจกามคุณ มิได้ยินดีในฟ้อนขับแห่งนางทั้งหลาย อันเป็นที่เจริญหฤทัยเห็นปานดังนั้น ก็หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ประมาณมุหุตหนึ่ง.." มุหุตหนึ่งคือครู่หนึ่ง
ภายในปราสาทที่เจ้าชายประทับอยู่ สว่างรุ่งเรืองด้วยประทีปโคมไฟที่ "ตามด้วยน้ำมันหอมส่งสว่างขจ่างจับแสงแก้วแสงทอง..." บรรดานางบำเรอฟ้อนรำขับร้องที่อยู่เฝ้า เมื่อเห็นเจ้าชายบรรทมหลับแล้วต่างก็เอนกายลงนอนทับเครื่องดนตรี
มุหุตหนึ่งคือครู่หนึ่ง เจ้าชายตื่นบรรทมแล้วก็ทรงเห็นอาการวิปลาสของนางบำเรอ ที่นอนหลับไม่สำรวม ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ว่า "แลนางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ (น้ำลาย) อันหลั่งไหล นางบางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงดังเสียงกา นางบางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ นางบางพวกก็นอนละเมอเพ้อฝันจำนรรจาต่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส บางเหล่านางก็นอนมีกายเปลือยปราศจากวัตถาสำแดงที่สัมพาธฐานให้ปรากฏ..."
เจ้าชายเสด็จจากพระแท่นที่บรรทม เสด็จลุกขึ้นทอดพระเนตรภายในปราสาทที่ประทับแม้จะสว่างรุ่งเรืองด้วยดวงประทีป และงามตระการด้วยเครื่องประดับ แต่ทรงเห็นเป็นที่มืด และทรงเห็นเป็นดุจป่าช้าผีดิบ สิ่งที่มีชีวิตที่ยังหายใจได้ที่กำลังนอนระเนระนาดปราศจากอาการสำรวมคือ นางบำเรอปรากฏแก่พระองค์เป็นซากศพผีดิบในสุสาน จึงออกพระโอษฐ์ลำพังพระองค์ว่า "อาตมาจะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในสมัยราตรีนี้" แล้วเสด็จไปยังพระทวารปราสาท
เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา ซึ่งกำลังบรรทมหลับสนิทเป็นนิมิตอำลาผนวช
ส่วนเจ้าชายผู้ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้วว่าจะเสด็จออกบวช เสด็จไปยังห้องบรรทมของพระนางพิมพายโสธราผู้ชายาก่อน เมื่อเสด็จไปถึง ทรงเผยบานพระทวารออก ทรงเห็นพระชายากำลังหลับสนิท พระนางทอดพระกรไว้เหนือเศียรราหุล โอรสผู้เพิ่งประสูติ พระองค์ทรงเกิดความเสน่หาอาลัยในพระชายาและพระโอรสที่เพิ่งได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นครั้งแรกอย่างหนัก
ทรงหมายพระทัยว่า "จะทรงยกพระหัตถ์นางผู้ชนนี จะอุ้มเอาองค์โอรส..." ก็ทรงเกรงพระนางจะตื่นบรรทม และจะเป็นอุปสรรคแก่การเสด็จออกบวช จึงข่มพระทัยเสีย ได้ว่าอย่าเลย เมื่อได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า "จะกลับมาทัศนาการพระพักตร์พระลูกแก้วเมื่อภายหลัง"แล้วเสด็จออกจากที่นั้น ลงจากปราสาทไปยังที่ที่นายฉันนะเตรียมผูกม้าไว้เรียบร้อยแล้ว
ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา
ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายเสด็จขึ้นทรง เพื่อเสด็จออกบวชครั้งนี้ มีชื่อว่า 'กัณฐกะ' เป็นสหชาติคือเกิดวันเดียวกับเจ้าชาย หนังสือปฐมสมโพธิบอกส่วนยาวของม้านี้ไว้ว่า "ยาวตั้งแต่คอจดท้ายมีประมาณ ๑๘ ศอก" แต่ส่วนสูงกี่ศอก ไม่ได้บอกไว้ บอกแต่ว่า "โดยสูงก็สมควรกับกายอันยาว" และแจ้งถึงลักษณะอย่างอื่นไว้ว่า "สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกา มีเกศาในมุขประเทศ (หน้า)ขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด กอปรด้วยพหลกำลังมาก แลยืนประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วมณี"
ความที่ว่านั้นเป็นม้าในวรรณคดีที่กวีพรรณาให้เขื่อง และให้เป็นม้าพิเศษกว่าม้าสามัญ ถ้าถอดความเป็นอย่างธรรมดาก็ว่ากัณฐกะสูงใหญ่สีขาวเหมือนม้าทรงของจอมจักรพรรดิ หรือบุคคลผู้ทรงความเป็นเอกในเรื่อง
เมื่อเจ้าชายเสด็จเข้าใกล้ม้า ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังกัณฐกะ ท่านว่าม้ากัณฐกะมีความยินดีก็เปล่งเสียงร้องดังกึกก้องสนั่นไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ ดังไปไกลถึงหนึ่งโยชน์ (ประมาณ ๔๐๐ เส้น) โดยรอบ ถ้าเป็นไปตามนี้ ทำไมคนทั้งเมืองจึงไม่ตื่นกัน ท่านผู้รจนาวรรณคดีเรื่องนี้ท่านบอกว่า "เทพยดาก็กำบังเสียซึ่งเสียงนั้นให้อันตรธานหายไป..." ท่านใช้เทวดาเป็นเครื่องเก็บเสียงม้านั่นเอง
ถ้าถอดความจากเรื่องราวของวรรณคดีดังกล่าวออกมาก็คือ เจ้าชายทรงชำนาญในเรื่องม้ามาก ทรงสามารถสะกดม้าไม่ให้ส่งเสียงร้องได้
จากนั้นก็เสด็จขึ้นหลังกัณฐกะ บ่ายพระพักตร์ออกไปทางประตูเมืองที่ชื่อ 'พระยาบาลทวาร'โดยมีนายฉันนะมหาดเล็กตามเสด็จไปข้างหลัง วันที่เสด็จออกบวชนั้น หนังสือปฐมสมโพธิบอกว่าเป็นวันเพ็ญเดือน ๘ ท่านว่า "พระจันทร์แจ่มในท่ามกลางคัคนาดลประเทศ (ท้องฟ้า) ปราศจากเมฆ ภายในห้องจักรวาลก็ขาวผ่องโอภาสด้วยนิศากรรังสี" นิศากรรังสี คือ แสงจันทร์ในวันเพ็ญ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)