วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖
=====================
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อม
ทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรม
ที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”.
คหบดีบุตร !
พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ :-
พึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า),
พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา),
พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศบื้องหลัง),
พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย),
พึงทราบว่า ทาสกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องตำ่),
พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน).
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา
อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน
(๒) เราจักทำกิจของท่าน
(๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล
(๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท
(๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจัก
กระทำทักษิณาอุทิศท่าน
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา
อันบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ห้ามเสียจากบาป
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) ให้ศึกษาศิลปะ
(๔) ให้มีคู่ครองที่สมควร
(๕) มอบมรดกให้ตามเวลา
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์
อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ
(๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้
(๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง
(๔) ด้วยการปรนนิบัติ
(๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์
อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) แนะนำดี
(๒) ให้ศึกษาดี
(๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง
(๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย
(๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา
อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ด้วยการยกย่อง
(๒) ด้วยการไม่ดูหมิ่น
(๓) ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ
(๔) ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้
(๕) ด้วยการให้เครื่องประดับ
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา
อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) จัดแจงการงานดี
(๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี
(๓) ไม่ประพฤตินอกใจ
(๔) ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่
(๕) ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย
อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ด้วยการให้ปัน
(๒) ด้วยการพูดจาไพเราะ
(๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์
(๔) ด้วยการวางตนเสมอกัน
(๕) ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย
อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
(๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
(๓) เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย
(๔) ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย
(๕) นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร
อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง
(๒) ด้วยการให้อาหารและรางวัล
(๓) ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้
(๔) ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้
(๕) ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร
อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย
(๒) เลิกงานทีหลังนาย
(๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้
(๔) กระทำการงานให้ดีที่สุด
(๕) นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ ์
อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ด้วยเมตตากายกรรม
(๒) ด้วยเมตตาวจีกรรม
(๓) ด้วยเมตตามโนกรรม
(๔) ด้วยการไม่ปิดประตู (คือ ยินดีต้อนรับ)
(๕) ด้วยการคอยถวายอามิสทาน
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์
อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ :-
(๑) ห้ามเสียจากบาป
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม
(๔) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง
(๕) ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด
(๖) บอกทางสวรรค์ให้
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
ปา. ที. ๑๑/๑๙๕-๒๐๖/๑๗๔-๒๐๕.
ขอเชิญดูคลิปวีดีโอครับใน youtube เกี่ยวกับการตอบแทนมารดาบิดาอย่างสูงสุดและความสำคัญบางส่วนของพุทธวจน2คลิปดูตามลิงค์ได้เลยครับ I am browsing [ประมวลภาพ ชวนน้องท่องพุทธวจน "ให้ก้องโลก"_2018-07-27 - YouTube]. Have a look at it!https://m.youtube.com/watch?v=W-3HOGctvDk I am browsing ["ถ้ามีพระอย่างนี้ในขอบเขตประเทศไทยมากๆ ผมว่าธรรมะต้องกลับมาอย่างรวดเร็วแน่นอน" - YouTube]. Have a look at it!https://m.youtube.com/watch?v=DEf_I37hsmY [๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภูมิอสัตบุรุษและสัตบุรุษแก่เธอ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุทั้งหลายนั้นทูลรับพระดำรัส พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ภูมิอสัตบุรุษเป็นไฉน อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญูอกตเวที ก็ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ เป็นภูมิอสัตบุรุษทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลายส่วนสัตบุรุษย่อมเป็นคน กตัญญูกตเวที ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้เป็นภูมิสัตบุรุษ ฯ [๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่าน ทั้ง ๒ ท่านทั้ง ๒ คือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายบุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่งพึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่งเขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขา พึงปฏิบัติท่านทั้ง ๒ นั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้ง ๒ นั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละดูกรภิกษุทั้งหลายการกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธา สัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว ทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา. E-Tipitaka_20/58/277-278

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สิ้นกิเลสก็แล้วกัน ไม่ต้องรู้ว่าสิ้นไปเท่าไร

สิ้นกิเลสก็แล้วกัน ไม่ต้องรู้ว่าสิ้นไปเท่าไร

ภิกษุทั้งหลาย ! 
เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือหรือรอยนิ้วหัวแม่มือ
ย่อมปรากฏอยู่ที่ด้ามเครื่องมือของพวกช่างไม้
หรือลูกมือของพวกช่างไม้
แต่เขาก็ไม่มีความรู้ว่า
ด้ามเครื่องมือของเรา วันนี้สึกไปเท่านี้
วานนี้สึกไปเท่านี้
วันอื่นๆ สึกไปเท่านี้ๆ 
คงรู้แต่ว่ามันสึกไปๆ เท่านั้น,
นี้ฉันใด;
ภิกษุทั้งหลาย ! 
เมื่อภิกษุตามประกอบภาวนาอยู่ 
ก็ไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้
วานนี้สิ้นไปเท่านี้
วันอื่นๆ สิ้นไปเท่านี้ๆ
รู้แต่เพียงว่า
สิ้นไปในเมื่อมันสิ้นไปๆ เท่านั้น
,
ฉันใดก็ฉันนั้น.

    -บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๑๒๗/๖๘.

ลักษณะของการเกิด

ลักษณะของการเกิด

สารีบุตร !  กำเนิด ๔ ประการเหล่านี้ มีอยู่. ๔ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :-
(๑)อัณฑชะกำเนิด (เกิดในไข่)
(๒)ชลาพุชะกำเนิด (เกิดในครรภ์)
(๓)สังเสทชะกำเนิด (เกิดในเถ้าไคล)
(๔)โอปปาติกะกำเนิด (เกิดผุดขึ้น)

สารีบุตร !  ก็อัณฑชะกำเนิด เป็นอย่างไรเล่า ?
 สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ชำแรกเปลือกแห่งฟองเกิด นี้เราเรียกว่า อัณฑชะกำเนิด.
สารีบุตร !  ชลาพุชะกำเนิด เป็นอย่างไรเล่า ?
สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นใด ชำแรกไส้ (มดลูก) เกิด นี้เราเรียกว่า ชลาพุชะกำเนิด. 
สารีบุตร !  สังเสทชะกำเนิด เป็นอย่างไรเล่า ?
สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นใด ย่อมเกิดในปลาเน่า ในซากศพเน่า ในขนมบูด หรือในน้ำครำ ในเถ้าไคล  (ของสกปรก) นี้เราเรียกว่า สังเสทชะกำเนิด.
สารีบุตร !  โอปปาติกะกำเนิด เป็นอย่างไรเล่า ?
เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวก นี้เราเรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด.

สารีบุตร !  เหล่านี้แล กำเนิด ๔ ประการ.
-บาลี มู. ม. ๑๒/๑๔๖/๑๖๙.

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ที่รักที่เจริญใจในโลก

ที่รักที่เจริญใจในโลก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก.
ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในที่นี่. ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี่.
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
สิ่งที่ทำหน้าที่รู้ (วิญญาณ) ทางตา
สิ่งที่ทำหน้าที่รู้ทางหู...ทางจมูก...ทางลิ้น...ทางกาย...ทางใจ.
ผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก ผัสสะทางลิ้น ผัสสะทางกาย ผัสสะทางใจ.
เวทนาจากผัสสะทางตา เวทนาจากผัสสะทางหู...ทางจมูก...ทางลิ้น...ทางกาย...ทางใจ.
การหมายรู้ (สัญญา) เกี่ยวกับรูป การหมายรู้เกี่ยวกับเสียง...กลิ่น...รส...กายสัมผัส...ธรรมารมณ์.
เจตนาในการหมายรู้ (สัญเจตนา) เกี่ยวกับรูป...เกี่ยวกับเสียง...กลิ่น...รส...กายสัมผัส...ธรรมารมณ์.
การตรึก (วิตก) ที่เป็นไปทางรูป การตรึกที่เป็นไปทางเสียง...กลิ่น...รส...กายสัมผัส...ธรรมารมณ์.
การตรอง (วิจาร) ที่เป็นไปทางรูป การตรองที่เป็นไปทางเสียง...กลิ่น...รส...กายสัมผัส...ธรรมารมณ์.
ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่นตัณหาในรส ตัณหาในกายสัมผัส ตัณหาในธรรมารมณ์.
(แต่ละอย่าง ๆ เหล่านี้)
เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก.
ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้
เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี่.
ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้
เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี่.
มหา. ที. ๑๐/ ๒๙๗ – ๒๙๘.
ความพอใจ เป็นเหตุแห่งทุกข์
“ทุกข์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต.,
ทุกข์ทั้งหมดนั้น.., มีฉันทะเป็นมูล.., มีฉันทะเป็นเหตุ..,
เพราะว่า ฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์..,
ทุกข์ใด ๆ อันจะเกิดขึ้นในอนาคต.,
ทุกข์ทั้งหมดนั้น.., ก็มีฉันทะเป็นมูล.., มีฉันทะเป็นเหตุ..,
เพราะว่า ฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์..,
และทุกข์ใด ๆ ที่เกิดขึ้น.,
ทุกข์ทั้งหมดนั้น.., ก็มีฉันทะเป็นมูล.., มีฉันทะเป็นเหตุ..,
เพราะว่า ฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ ”.
---------------------------
สฬา. สํ. ๑๘/๔๐๓/๖๒๗.
พุทธวจน จากพระโอษฐ ตถาคต อรหันตสัมสัมพุทธะ
เหตุเกิดของทุกข์
ถูกแล้ว ถูกแล้ว อานนท์ ! ตามที่สารีบุตรเมื่อตอบปัญหาในลักษณะเช่นนั้น ชื่อว่าได้ตอบโดยชอบ ... อานนท์ ! ความทุกข์นั้น เรากล่าวว่าเป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดขึ้น (เรียกว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม)
ความทุกข์นั้น อาศัยปัจจัยอะไรเล่า?
ความทุกข์นั้น อาศัยปัจจัย คือ ผัสสะ ..ผู้กล่าวอย่างนี้แล ชื่อว่า กล่าวตรงตามที่เรากล่าว ไม่เป็นการกล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง .. แต่เป็นการกล่าวโดยถูกต้อง และสหธรรมิกบางคนที่กล่าวตาม ก็จะไม่พลอยกลายเป็นผู้ควรถูกติไปด้วย
อานนท์ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมทั้งสี่พวกนั้น สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ว่าเป็นสิ่งที่ตนทำเอาด้วยตนเอง .. แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดได้
สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ผู้อื่นทำให้ .. แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดได้
สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ตนทำเอาด้วยตนเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย .. แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้
ถึงแม้สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทำเองหรือใครทำให้ก็เกิดขึ้นได้ก็ตาม .. แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้อยู่นั่นเอง
นิทาน. สํ. ๑๖/๔o/๗๕
“ราหุล ! กระจกเงามีไว้สำหรับทำอะไร ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
กระจกเงามีไว้สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า !”.
“ราหุล ! กรรมทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่บุคคลควรสอดส่อง
พิจารณาดูแล้วดูเล่าเสียก่อน จึงทำลงไป
ทางกาย, ทางวาจา หรือ ทางใจ
ฉันเดียวกับกระจกเงานั้นเหมือนกัน”.
---------------------------
ม. ม. ๑๓/๑๒๕/๑๒๘
ภิกษุ ท. ! กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, เวมัตตตา (ความมีประมาณต่างๆ) แห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, วิบาก (ผลแห่งการกระทำ) แห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธ (ความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ...... คำที่เรากล่าวแล้วดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ?
ภิกษุ ท. ! เรากล่าวซึ่งเจตนา ว่าเป็น กรรมเพราะว่าบุคคลเจตนาแล้ว ย่อมกระทำซึ่งกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ.
ภิกษุ ท. ! นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกรรมทั้งหลาย คือ ผัสสะ.
ภิกษุ ท. ! เวมัตตตา (ความมีประมาณต่างๆ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! กรรมที่ทำให้สัตว์เสวยเวทนาในนรกมีอยู่, กรรมที่ทำให้สัตว์เสวยเวทนาในกำเนิดเดรัจฉานมีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเปรตวิสัย มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์เสวยเวทนาในมนุษย์โลก มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์เสวยเวทนาในเทวโลก มีอยู่.
ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า เวมัตตตาแห่งกรรมทั้งหลาย.
ภิกษุ ท. ! วิบาก (ผลแห่งการกระทำ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! เรากล่าววิบากแห่งกรรมทั้งหลายว่ามีอยู่ ๓ อย่าง คือ วิบากในทิฏฐธรรม (คือทันควัน) หรือว่า วิบากในอุปปัชชะ (คือในเวลาต่อมา) หรือว่า วิบากใน อปรปริยายะ (คือในเวลาต่อมาอีก). ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่าวิบากแห่งกรรมทั้งหลาย.
ภิกษุ ท. ! กัมมนิโรธ (ความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ความดับแห่งกรรมทั้งหลาย ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ.
ภิกษุ ท. ! กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์แปด) นี้นั่นเองคือ กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา ; ได้แก่ สิ่งเหล่านี้คือ คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ) สัมมาวายามะ (ความพากเพียรชอบ) สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ).
ภิกษุ ท. ! เมื่อใดอริยสาวก ย่อมรู้ชัดซึ่ง กรรมอย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง นิทานสัมภวะแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง เวมัตตตาแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง วิบากแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธ อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้ ; อริยสาวกนั้น ย่อม รู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์นี้ว่าเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นที่ดับไม่เหลือแห่งกรรม.
ภิกษุ ท. ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, นิทานสัมภวะแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, เวมัตตตาแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, วิบากแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ” ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว.
ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๕๘,๔๖๓ - ๔๖๔/๓๓๔.
I am browsing [ปฏิจจสุปบาท ๒ - YouTube]. Have a look at it!https://m.youtube.com/watch?v=ouQCM5nqkmk
I am browsing [ปฏิจจสมุปบาท - YouTube]. Have a look at it!https://m.youtube.com/watch?v=hHMVnX90TrA

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สุคติและศรัทธาที่ตั้งมั่นของเทวดา

สุคติและศรัทธาที่ตั้งมั่นของเทวดา***
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติ
จากเทพนิกายเมื่อนั้น นิมิตร ๕ ประการ
ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑
ผ้าย่อมเศร้าหมอง ๑ เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ๑
ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย ๑
เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลายเทวดาทั้งหลายทราบว่า
เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย
ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า
แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑
ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑
ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อะไรหนอแลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดา
ทั้งหลายอะไรเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว
อนึ่ง อะไรเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย
พระเจ้าข้า.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์แล
เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย
เทวดาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัย
ที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้แลเป็นส่วนแห่งลาภ
ที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว ก็ศรัทธาของเทวดานั้นแล
เป็นคุณชาติตั้งลง มีมูลเกิดแล้วประดิษฐานมั่นคง
อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก
พึงนำไปไม่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล
เป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย
เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกาย
เพราะความสิ้นอายุเมื่อนั้น
เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดี
ย่อมเปล่งออกไปว่า แน่ะท่านผู้เจริญ
ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็น
สหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิดท่านเป็นมนุษย์แล้ว
จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม
ศรัทธาของท่านนั้นพึงเป็นคุณชาติตั้งลงมั่น
มีมูลเกิดแล้วมั่นคงในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว
อันใครๆพึงนำไปมิได้ตลอดชีพ
ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริตมโนทุจริต
และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ
กระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก
กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้
หาอุปธิมิได้แต่นั้นท่านจงกระทำบุญ
อันให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยทาน แล้วยัง
สัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม
ในพรหมจรรย์ เมื่อใดเทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ
เมื่อนั้น ย่อมพลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์นี้ว่า
แน่ะเทวดา ท่านจงมาบ่อยๆ.
.............................
(บาลี) อิติวุ. ขุ. ๒๕/๒๘๙/๒๖๑-๒๖๒.
คติผู้ที่ต่ำกว่าโสดาบันไม่แน่นอน***
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนท่อนไม้อันบุคคลซัดขึ้นไปสู่อากาศ
บางคราวตกเอาโคนลง
บางคราวตกเอาตอนกลางลง
บางคราวตกเอาปลายลง,
ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. !
สัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้นมีตัณหาเป็นเครื่องผูก
แล่นไปอยู่ท่องเที่ยวไปอยู่ในสังสารวัฏ
ก็ทำนองเดียวกัน
บางคราวแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น
บางคราวแล่นจากโลกอื่นสู่โลกนี้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ข้อนั้น เพราะความที่เขาเป็นผู้ไม่เห็นซึ่งอริยสัจทั้งสี่.
อริยสัจสี่อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ
อริยสัจคือทุกข์
อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้
เธอพึงประกอบโยคกรรม
อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
“ทุกข์ เป็นอย่างนี้,
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๐/๑๗๑๖.

https://youtu.be/cheJI2nRMnA

อริยสัจ-ปฏิจจสมุปบาท คือสิ่งที่ต้องรู้เพราะเป็นการรู้จักตัวเราเอง


(อริยสัจ4พอสังเขปทรงแสดงด้วยความยึดในขันธ์ห้า)
................................................................
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐ มีสี่อย่างเหล่านี้,
สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐ
คือทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับ
ไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์
เป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง.
ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ? คือ :-
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้
เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือตัณหาอันใดนี้ ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก
อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจแห่งความเพลิน
มักทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่
ตัณหาในกาม (กามตัณหา),
ตัณหาในความมีความเป็น (ภวตัณหา),
ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น (วิภวตัณหา).
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือเหตุให้เกิดทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือความดับ
ไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือความดับสนิท เพราะความจางคลายดับไปโดย
ไม่เหลือของตัณหานั้น ความสละลงเสีย ความสลัดทิ้งไป
ความปล่อยวาง ความไม่อาลัยถึงซึ่งตัณหานั้นเอง อันใด.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือความดับไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทาง
ดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปด
นั่นเอง, ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :-
ความเห็นชอบ, ความดำริชอบ,
การพูดจาชอบ, การงานชอบ, การเลี้ยงชีพชอบ,
ความเพียรชอบ, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล คือความจริงอันประเสริฐ
สี่อย่าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอ
พึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์,
นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,
นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้เถิด.
.................................................................
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๓๔-๕/๑๖๗๘-๑๖๘๓.
อริยสัจ-ปฏิจจสมุปบาท
........................................................
ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
แม้ความเกิด ก็เป็นทุกข์,
แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์,
แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์,
แม้โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย
ก็เป็นทุกข์,
การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์,
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์,
ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ :
กล่าวโดยย่อ ปัญจุปาทานักขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขอริยสัจ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย;
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ;
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จีงมีนามรูป;
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา;
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา;
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน;
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ;
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ;
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย,
ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย
จึงเกิดขึ้นครบถ้วน :
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี
ด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า
ทุกขสมุทยอริยสัจ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า?
เพราะความจางคลายดับไปโดย
ไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร;
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ;
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป;
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ;
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ;
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา;
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา;
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน;
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ;
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ;
เพราะมีความดับแห่งชาติ นั่นแล,
ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย
จึงดับสิ้น :
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า
ทุกขนิโรธอริยสัจ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
มรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้
นั่นเอง, กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ; สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ; สัมมาวายามะ สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจ
ทั้งหลาย ๔ ประการ” ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์
ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เศร้าหมองไม่ได้ ติเตียนไม่ได้
คัดง้างไม่ได้ ดังนี้ อันใด อันเรากล่าวแล้ว; ข้อนั้น เรากล่าว
หมายถึงข้อความนี้, ดังนี้ แล.
........................................................................
ติก. อํ. ๒๐/๒๒๒-๒๒๘/๕๐๑.

https://youtu.be/hHMVnX90TrA   


ทรงกำชับให้ศึกษาเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น


ทรงกำชับให้ศึกษาเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น.
-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๙๑/๙๒/๒๙๒.
ภิกษุทั้งหลาย! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้ สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
ภิกษุทั้งหลาย! สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า "ข้อนี้เป็นอย่างไร มีความหมายกี่นัย" ดังนี้.
ด้วยการทำอย่างนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้ ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้ ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัย เธอก็บรรเทาลงได้.
ภิกษุทั้งหลาย! บริษัทชื่อ อุกกาจิตวินีตา ปริสา โน ปฏิปุจฉาวินีตา เป็นอย่างไรเล่า?.
ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายในบริษัทใด เมื่อสุตตันตะทั้งหลาย อันเป็นคำของตถาคตภาษิต (ตถาคตภาสิตา) อันลึกซึ้ง (คมฺภีรา) มีอรรถอันลึกซึ้ง (คมฺภีรตฺถา) เป็นโลกุตตระ (โลกุตฺตรา) ประกอบด้วยเรื่องสุญญตา (สุญฺญตปฏิสํยุตฺตา) อันบุคคลนำมากล่าวอยู่ ก็ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. 
ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ 
พวกเธอย่อมฟังด้วยดี เงี่ยหูฟัง ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และสำคัญไปว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน พวกเธอเล่าเรียนธรรมอันกวีแต่งใหม่นั้นแล้ว ก็ไม่สอบถามซึ่งกันและกัน ไม่ทำให้เปิดเผยแจ่มแจ้งออกมาว่า ข้อนี้พยัญชนะเป็นอย่างไร อรรถเป็นอย่างไร ดังนี้ เธอเหล่านั้น เปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผยไม่ได้ ไม่หงายของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นได้ ไม่บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีอย่างต่างๆ ได้.
ภิกษุทั้งหลาย! นี้เราเรียกว่า อุกกาจิตวินีตา ปริสา โน ปฏิปุจฉาวินีตา. 
ภิกษุทั้งหลาย! บริษัทชื่อ ปฏิปุจฉาวินีตา ปริสา โน อุกกาจิตวินีตา เป็นอย่างไร?
ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายในบริษัทใด เมื่อสุตตันตะทั้งหลาย ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก อันบุคคลนำมากล่าวอยู่ ก็ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน ส่วน สุตตันตะเหล่าใด อันเป็นตถาคตภาษิต อันลึกซึ้ง มีอรรถอันลึกซึ้ง เป็นโลกุตตระประกอบด้วยเรื่องสุญญตา เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านี้ มากล่าวอยู่ พวกเธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเง่ยหูฟัง ย่อมเข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ควรศึกษาเล่าเรียน พวกเธอเล่าเรียนธรรมที่เป็นตถาคตภาษิตนั้นแล้ว ก็สอบถามซึ่งกันและกัน ทำให้เปิดเผยแจ่มแจ้งออกมาว่า ข้อนี้พยัญชนะเป็นอย่างไร อรรถเป็นอย่างไร ดังนี้ เธอเหล่านั้น เปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผยได้ หงายของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นได้ บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีอย่างต่างๆ ได้ ภิกษุทั้งหลาย! นี้เราเรียกว่า ปฏิปุจฉาวินีตา ปริสา โน อุกกาจิตวินีตา.
ภิกษุทั้งหลาย! เหล่านี้แลบริษัท ๒ จำพวกนั้น. ภิกษุทั้งหลาย! บริษัทที่เลิศในบรรดาบริษัททั้งสองพวกนั้น คือ บริษัทปฏิปุจฉาวินีตา ปริสา โน อุกกาจิตวินีตา (บริษัทที่อาศัยการสอบสวนทบทวนกันเอาเองเป็นเครื่องนำไป ไม่อาศันความเชื่อจากบุคคลภายนอกเป็นเครื่องนำไป) แล.
พุทธภาษิต