มาสร้างความร่ำรวยที่แตกต่างกันครับ กับเรื่องของบุญ บุญเป็นชื่อของความสุข และเป็นความสุขที่แท้จริง จากนี้ไปสิ่งดีๆๆที่ทานสร้างลงมือทำด้วยความตั้งใจขอให้ รวยแบบไม่มีเหตุผลทุกคนครับ
วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
อริยสัจ-ปฏิจจสมุปบาท คือสิ่งที่ต้องรู้เพราะเป็นการรู้จักตัวเราเอง
(อริยสัจ4พอสังเขปทรงแสดงด้วยความยึดในขันธ์ห้า)
................................................................
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐ มีสี่อย่างเหล่านี้,
สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐ
คือทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับ
ไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์
เป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง.
ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ? คือ :-
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้
เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือตัณหาอันใดนี้ ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก
อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจแห่งความเพลิน
มักทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่
ตัณหาในกาม (กามตัณหา),
ตัณหาในความมีความเป็น (ภวตัณหา),
ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น (วิภวตัณหา).
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือเหตุให้เกิดทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือความดับ
ไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือความดับสนิท เพราะความจางคลายดับไปโดย
ไม่เหลือของตัณหานั้น ความสละลงเสีย ความสลัดทิ้งไป
ความปล่อยวาง ความไม่อาลัยถึงซึ่งตัณหานั้นเอง อันใด.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือความดับไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทาง
ดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปด
นั่นเอง, ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :-
ความเห็นชอบ, ความดำริชอบ,
การพูดจาชอบ, การงานชอบ, การเลี้ยงชีพชอบ,
ความเพียรชอบ, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล คือความจริงอันประเสริฐ
สี่อย่าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอ
พึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์,
นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,
นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้เถิด.
.................................................................
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๓๔-๕/๑๖๗๘-๑๖๘๓.
อริยสัจ-ปฏิจจสมุปบาท
........................................................
ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
แม้ความเกิด ก็เป็นทุกข์,
แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์,
แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์,
แม้โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย
ก็เป็นทุกข์,
การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์,
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์,
ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ :
กล่าวโดยย่อ ปัญจุปาทานักขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขอริยสัจ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย;
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ;
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จีงมีนามรูป;
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา;
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา;
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน;
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ;
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ;
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย,
ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย
จึงเกิดขึ้นครบถ้วน :
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี
ด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า
ทุกขสมุทยอริยสัจ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า?
เพราะความจางคลายดับไปโดย
ไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร;
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ;
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป;
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ;
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ;
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา;
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา;
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน;
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ;
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ;
เพราะมีความดับแห่งชาติ นั่นแล,
ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย
จึงดับสิ้น :
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า
ทุกขนิโรธอริยสัจ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
มรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้
นั่นเอง, กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ; สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ; สัมมาวายามะ สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจ
ทั้งหลาย ๔ ประการ” ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์
ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เศร้าหมองไม่ได้ ติเตียนไม่ได้
คัดง้างไม่ได้ ดังนี้ อันใด อันเรากล่าวแล้ว; ข้อนั้น เรากล่าว
หมายถึงข้อความนี้, ดังนี้ แล.
........................................................................
ติก. อํ. ๒๐/๒๒๒-๒๒๘/๕๐๑.
https://youtu.be/hHMVnX90TrA
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น