สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
เพราะเหตุใด? มนุษย์ทุกคนเกิดมาไม่เสมอเหมือนกัน คือ...
บางคนอายุสั้น บางคนอายุยืน. บางคนมีความเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อย บางคนเจ็บไข้ได้ป่วยน้อย. บางคนมีผิวพรรณทราม บางคนมีผิวพรรณงดงาม.
บางคนมียศศักดิ์น้อย บางคนมียศศักดิ์มาก. บางคนมีโภคทรัพย์น้อย บางคนมีโภคทรัพย์มาก. บางคนมีสกุลต่ำ บางคนมีสกุลสูง.
บางคนมีปัญญาทราม บางคนมีปัญญามาก.
ทั้งนี้ก็เพราะเหตุคือความแตกต่างกันแห่งกรรม....
พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า.....
"กมฺมสสกา มาณว สตฺตา
กมฺมทายาทา กมฺมโยนี กมฺมพนฺธู กมฺมปฏิสรณา
กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตายา"
แปลว่า....."นี่แนะ มาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
เป็นทายาทรับกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งพิงอาศัย
กรรมย่อมจำแนกสัตว์เพื่อให้เป็นผู้เลวและประณีต"
ดังนี้
คำว่า กมฺมสฺสกา - มีกรรมเป็นของตน คือ มีกรรมเป็นสมบัติของตน
คำว่า กมฺมทายาทา - เป็นทายาทรับกรรม คือ มีกรรมเป็นมรดก หมายความว่า ผู้ใดทำกรรม จะเป็นกุศลก็ตาม อกุศลก็ตาม ต่อไปข้างหน้า ผู้นั้นนั่นแหละ เป็นผู้รับมรดก คือกรรมนั้น จะมอบให้ผู้อื่นรับแทนหาได้ไม่ กล่าวคือ ต้องเสวยวิบากที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง อันเนื่องมาแต่กรรม ด้วยตนเอง.
คำว่า กมฺมโยนี - มีกรรมเป็นกำเนิด คือ มีกรรมเป็นเหตุ ความว่า ความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย กรรมมีส่วนเป็นเหตุอย่างสำคัญ
คำว่า กมฺมพนฺธู - มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือ มีกรรมเป็นญาติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายมีมารดา บิดา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง เป็นต้น เป็นญาติผู้อุปการะบ้าง เบียดเบียนบ้าง ฉันใด ก็มีกรรมของตนนี่แหละ เป็นญาติผู้อุปการะบ้าง เบียดเบียนบ้าง ฉันนั้น.
คำว่า กมฺมปฏิสรณา - มีกรรมเป็นที่พึ่งพิงอาศัย คือ มีกรรมเป็นที่พึ่ง มีกรรมเป็นที่ตั้งอาศัย ซึ่งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง.
คำว่า เพื่อให้เป็นผู้เลวและประณีต ความว่า ความเป็นคนมีอายุสั้น ชื่อว่า เลว ความเป็นคนมีอายุยืน ชื่อว่า ประณีต(คือดี) ความเป็นผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยมาก ชื่อว่าเลว ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยน้อย ชื่อว่าประณีต
ความเป็นผู้ที่มีผิวพรรณทราม ชื่อว่าเลว ผู้ที่มีผิวพรรณงดงาม ชื่อว่าประณีต ความเป็นผู้ที่มียศศักดิ์น้อย ชื่อว่าเลว ผู้มียศศักดิ์มาก ชื่อว่าประณีต
ความเป็นผู้ที่มีโภคทรัพย์น้อย ชื่อว่าเลว ผู้มีโภคทรัพย์มาก ชื่อว่าประณีต ความเป็นผู้มีสกุลต่ำ ชื่อว่าเลว ผู้มีสกุลสูง ชื่อว่าประณีต
ความเป็นผู้มีปัญญาทราม ชื่อว่าเลว ผู้มีปัญญามาก ชื่อว่าประณีต ฉะนี้แล.
( หมายเหตุ - คำว่า เลว ในที่นี้ มิใช่เป็นอกุศล)