เสด็จประทับโคนต้นไทร สามธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงยินดี
ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗ วัน คำว่า “เสวยวิมุติสุข” เป็นภาษาที่ใช้สำหรับท่านผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว เทียบกับภาษาสามัญชนคนมีกิเลสก็คือ พักผ่อนภายหลังที่ตรากตรำงานมานั่นเอง
หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นนิโครธคือต้นไทร ส่วนคำหน้าคือ “อชปาล” แปลว่า เป็นที่เลี้ยงแพะ ตามตำนานบอกว่าที่ใต้ต้นไทรแห่งนี้เคยเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะมานาน คนเลี้ยงแพะที่ตำบลแห่งนี้ได้เข้ามาอาศัยร่มเงาต้นไทรเป็นที่เลี้ยงแพะเสมอมา
ระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่ นักแต่งเรื่องเรื่องในยุคอรรถกถาจารย์ ยุคนี้เกิดขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้วหลายร้อยปี ได้แต่งเรื่องขึ้นเฉลิมพระเกียรติของพระพุทธเจ้าว่า ลูกสาวพระยามารซึ่งเคยยกทัพมาผจญพระพุทธเจ้าเมื่อตอน ก่อนตรัสรู้เล็กน้อยแต่ก็พ่ายแพ้ไป ได้ขันอาสาพระยามารผู้บิดาเพื่อประโลมล่อพระพุทธเจ้าให้ตกอยู่ในอำนาจของพระยามารให้จงได้ ลูกสาวพระยามารมี ๓ คน คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี
ทั้งสามนางเข้าไปประเล้าประโลมพระพุทธเจ้าด้วยกลวิธีทางกามารมณ์ต่างๆ เช่น เปลื้องภูษาอาภรณ์ทรงออก แปลงร่างเป็นสาวรุ่นบ้าง เป็นสาวใหญ่บ้าง เป็นสตรีในวัยต่างๆ บ้าง แต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้วไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ แม้แต่ลืมพระเนตรแลมอง
เรื่องธิดาพระยามารประโลมพระพุทธเจ้าก็เป็นปุคคลาธิษฐาน ถอดความได้ว่า ทั้งสามธิดาพระยามารนั้น ล้วนหมายถึงกิเลสทั้งนั้น อย่างหนึ่งคือความยินดี อีกอย่างหนึ่งคือความยินร้ายหรือความเกลียดชัง ความยินดีส่วนหนึ่งแยกออกเป็นตัณหา คือความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด อีกส่วนหนึ่งเป็นราคาหรือราคะ คือความใคร่หรือกำหนัด ความเกลียดชังหรือยินร้ายออกมาในรูปของอรดี อรดีในที่นี้คือ ความริษยา
ความที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ แม้แต่ทรงลืมพระเนตรนั้น ก็หมายถึงว่า พระพุทธเจ้าอยู่ห่างไกลจากกิเลสดังกล่าวมาโดยสิ้นเชิงนั่นเอง
ย้ายไปประทับโคนไม้จิก ฝนตกพรำ พญานาคมาขดขนดปกพระกายกำบังฝน
ระหว่างที่พระพุทธเจ้ายังไม่ตัดสินใจพระทัยว่าจะทรงแสดงธรรมโปรดใครเพื่อประกาศพระศาสนา นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมานี้ ได้เสด็จแปรสถานที่ประทับแห่งละ ๗ วัน ที่เห็นอยู่ตามภาพนี้เป็นสัปดาห์ที่สาม และสถานที่ประทับก็เป็นแห่งที่สาม คือ ใต้ต้นมุจลินทร์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์
มุจลินทร์เป็นต้นไม้ที่เกิดอยู่ในที่ทั่วไปในประเทศอินเดีย มีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณคดี ทั้งประเภทชาดก และอย่างอื่นมากหลาย ในเวสสันดรชาดกก็กล่าวถึงสระมุจลินทร์ที่เวสสันดรไปประทับอยู่เมื่อคราวเสด็จไปอยู่ป่า
ไทยเราแปลต้นมุจลินทร์กันว่าต้นจิก เข้าใจว่าจะใช่ เพราะดูลักษณะที่เกิดคล้ายกัน คือ ชอบเกิดตามที่ชุ่มชื้น เช่น ตามห้วย หนอง คลอง บึง เป็นไม้เนื้อเหนียว ดอกระย้ามีทั้งสีขาวและสีแดง ใบประมาณเท่าใบชมพู่สาแหรก ปกติใบดกหนา เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาดี
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย ท่านผู้รจนาปฐมสมโพธิได้แต่งเล่าเรื่องไว้ว่า พญานาคชื่อ “มุจลินทร์” ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณแห่งเดียวกันนี้ เข้าไปวงขนด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัด และสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลาดขนดออก แล้วจำแลงแปลงเป็นเพศมาณพ ยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์
พระพุทธรูปนาคปรกที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้น ก็เป็นนิมิตหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับพระพุทธเจ้าในปางหรือในตอนนี้ เป็นพระพุทธรูปที่เชื่อถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา เพราะเป็นรูปหรือภาพที่สอนคนโดยทางอ้อมให้เห็นอานิสงส์หรือผลดีของเมตตา เพราะแม้แต่พญางูใหญ่ในสระน้ำก็ยังขึ้นจากสระ เข้าไปถวายความอารักขาแก่พระพุทธเจ้า ทั้งนี้พลานุภาพแห่งพระมหากรุณาของพระพุทธองค์
ทรงคำนึงถึงอุปนิสัยเวไนยสัตว์ เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า จึงรับอาราธนา
ท้าวสหัมบดีพรหม ที่เสด็จมากราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนาโปรดชาวโลก เป็นเรื่องที่กวีแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน คือ แต่งเป็นนิยายมีบุคคลเป็นตัวแสดงในเรื่อง ถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐานหรืออธิบายกันตรงๆ ก็คือ สหัมบดีพรหมนั้น ได้แก่ พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ถึงพระพุทธเจ้าจะทรงท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรม แต่อีกพระทัยหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า คือ พระมหากรุณา และพระมหากรุณานี่เองที่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยว่า จะทรงแสดงธรรม หลังจากตัดสินพระทัยแล้วจึงทรงพิจารณาดูอัธยาศัยของของคนในโลก แล้วทรงเห็นความแตกต่างแห่งระดับสติปัญญาของคนถึง ๔ ระดับ หรือ ๔ จำพวก
(๑) อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
(๒) วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น
(๓) เนยยะ ผู้พอแนะนำได้
(๔) ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง
จำพวกที่หนึ่ง เหมือนดอกบัวเปี่ยมน้ำ พอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน ที่สอง เหมือนดอกบัวใต้น้ำ ที่จะโผล่พ้นน้ำ และที่จะบานในวันรุ่งขึ้น ที่สาม เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปหน่อย ซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมาบานในวันต่อๆ ไป และที่สี่ เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก ถึงขนาดไม่อาจขึ้นมาบานได้ เพราะตกเป็นภักษาของปลาและเต่าเสียก่อน
ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด ทรงมองเห็นภาพของดาบสทั้งสองที่พระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ด้วย แต่ทั้งสองนั้นก็สิ้นชีพเสียแล้ว ทรงเห็นเบญจวัคคีย์ว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก
สำแดงปฐมเทศนาธัมมจักรกัปปวัตนสูตร โปรดเบญจวัคคีย์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม
วันที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม “ปฐมเทศนา” ดังที่เห็นอยู่ในภาพนั้น คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นรุ่งขึ้นหลังจากเสด็จมาถึงและพบเบญจวัคคีย์ คือ วันอาสาฬหบูชา นั่นเอง
ผู้ฟังธรรมมี ๕ คน ที่เรียกว่า “เบญจวัคคีย์” เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรงปฏิเสธสิ่งที่คนคือนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน คือ เรื่องทรมานตนให้ลำบาก และการปล่อยชีวิตไปตามความใคร่ ทรงปฏิเสธว่าทั้งสองทางนั้น พระองค์เคยทรงผ่านและทรงทดลองมาแล้ว ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลย แล้วทรงแนะนำทางทางสายกลางที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” คือปฏิบัติดีปฏิบัติตามมรรค ๘ ที่กล่าวโดยย่อคือ ศีล สมาธิ และปัญญา
เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสาวกรุ่นทำสังคายนาตั้งชื่อเรื่องเทศน์กัณฑ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งแรกนี้ว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” หรือเรียกโดยย่อว่า ธรรมจักร โดยเปรียบเทียบการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ว่า เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงขับจักรหรือรถศึกแผ่พระบรมเดชานุภาพ ต่างแต่จักรหรือรถศึกของพระพุทธเจ้าเป็นธรรม หรือธรรมจักร
พอแสดงธรรมกัณฑ์นี้จบลง โกณฑัญญะ ผู้หัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม คือ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าจึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัย เมื่อเห็นโกณฑัญญะได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลที่แม้จะเป็นขั้นต่ำ “อัญญาสิ วตโก โกณฑัญโญ ฯลฯ” แปลว่า “โอ ! โกณฑัญญะได้รู้แล้ว ได้สำเร็จแล้ว” ตั้งแต่นั้นมาท่านโกณฑัญญะจึงมีคำหน้าชื่อเพิ่มขึ้นว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”
โกณฑัญญะฟังธรรมจบแล้ว ได้ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานอนุญาตให้ท่านบวช ด้วยพระดำรัสรับรองเพียงว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่าน ส่วนอีก ๔ ที่เหลือนอกนั้น ต่อมาได้สำเร็จและได้บวชเช่นเดียวกับพระโกณฑัญญะ
พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ แก่พระอรหันต์สงฆ์ในวันเพ็ญมาฆบูชา
ภายหลัง พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร บวชแล้วไม่นาน พระพุทธเจ้าได้ทรงประชุมพระสาวกขึ้นใน วันเพ็ญกลางเดือนสาม ที่พระเวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน การประชุมพระสาวกครั้งนี้ ผู้นับถือศาสนาพุทธในสมัยก่อน ต่อมาเห็นเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมาก จึงกำหนดถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ว่า “วันมาฆบูชา”
การประชุมพระสาวกของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ แปลกกว่าทุกคราวที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล คือ พระสาวกมีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป แต่ละรูป แต่ละองค์ล้วนบวชกับพระพุทธเจ้า มีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน คือ พระพุทธเจ้า ล้วนเป็นพระอรหันต์ ต่างมาประชุมโดยไม่ได้นัดหมาย และพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุม การประชุมพระสาวกครั้งนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่ง ตามลักษณะแปลก ๔ ประการนี้ว่า “จาตุรงคสันนิบาต”
ในเวลานั้น กรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่ บรรดาพระสาวกแยกย้ายกันออกไปประกาศพระศาสนาต่างได้ทราบว่า เวลานั้นพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ เมื่อเสร็จกิจประกาศพระศาสนาจึงต่างจาริกมาเฝ้า เมื่อมาพร้อมหน้ามากตั้งพันกว่า พระพุทธเจ้าจึงประชุมพระสาวกแสดงโอวาทปาติโมกข์
“โอวาทปาติโมกข์” คือ หลักการโดยสรุปของศาสนาพุทธ มีทั้งหลักคำสอนและหลักการปกครองคณะสงฆ์ มีทั้งหมด ๑๓ ข้อด้วยกัน เช่นเป็นต้นว่า ศาสนาพุทธสอนว่า ละชั่ว ทำดี ทำจิตบริสุทธิ์ สุดยอดของคำสอนอยู่ที่นิพพาน ดับกิเลสพ้นทุกข์ และเป็นพระสงฆ์ต้องสำรวม กินอยู่พอประมาณ อดทน ไม่กล่าวร้ายป้ายสีคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น
สมัยที่กล่าวนี้ พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติวินัยปกครองสงฆ์ เพราะความเสียหายยังไม่เกิด จึงทรงวางหลักปกครองสงฆ์ไว้แต่โดยย่อ เทียบให้เห็นคือ เมืองไทยสมัยไม่กี่ปีมานี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร แต่มีธรรมนูญเป็นหลักปกครองแทน ธรรมนูญนี้เทียบได้กับโอวาทปาติโมกข์ ส่วนรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรก็เทียบได้กับวินัยพุทธบัญญัติทั้งหมด ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นในเวลาต่อมา
เสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระญาติผู้ใหญ่ถือว่าสูงอายุไม่ถวายบังคม
ตลอดเวลา ๖ ปีกว่า คือ นับตั้งแต่เสด็จออกบวช ตรัสรู้ และประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ จนมีพระสาวกและคนนับถือมาก พระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองประสูติของพระองค์เลย ภาพที่เห็นนี้จึงเป็นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก เพื่อโปรดพระประยูรญาติตามคำทูลอาราธนาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา
ด้วยพระทัยปรารถนาที่จะได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงอยู่ในฐานะหนึ่ง คือ พระราชโอรส เมื่อทรงทราบว่าขณะนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเพื่อประกาศพระศาสนาอยู่ในแคว้นมคธ พระเจ้าสุทโธทนะจึงส่งคณะฑูตไปทูลอาราธนา
คณะฑูตแต่ละคณะที่พระเจ้าสุทโธทนะส่งไปเพื่อทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า มีหัวหน้าและบริวาร ซึ่งปฐมสมโพธิบอกว่า มีจำนวนหนึ่งพันคน รวมทั้งหมด ๑๐ คณะด้วยกัน คณะที่ ๑ ถึง ๙ ตามลำดับ ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จอรหันต์ ยังมิได้กลับมาทูลรายงานให้พระเจ้าสุทโธทนะได้ทราบ พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงส่งคณะอำมาตย์ เป็นคณะฑูตที่ ๑๐ ไปอีก คณะฑูตที่ ๑๐ นี้มี “กาฬุทายี” เป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยและเป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า ก่อนออกเดินทางไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า กาฬุทายีทูลลาบวช เมื่อบวชแล้วจะทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ให้จงได้ พระเจ้าสุทโธทนะทรงอนุมัติ
ภายหลังเมื่อกาฬุทายีไปถึงสำนักพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจนสำเร็จอรหันต์ และได้ขอบวชเป็นพระสาวกพร้อมทั้งบริวารที่ติดตามไปแล้ว ไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ขณะนั้นเป็นหน้าแล้ง ย่างเข้าหน้าฝน
พระพุทธเจ้าทรงรับคำทูลอาราธนาแล้ว พร้อมด้วยพระสาวก ที่ตำนานปฐมสมโพธิบอกว่า จำนวน ๒ หมื่นรูป เสด็จออกเดินทางเป็นเวลาสองเดือน จึงถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จเข้าประทับในอารามของเจ้าศากยะผู้หนึ่ง ซึ่งชื่อว่า “นิโครธ” ซึ่งพวกเจ้าศากยะพระญาติจัดถวายให้เป็นที่ประทับ อารามในที่นี้ไม่ใช่วัด แต่เป็นสวน เป็นอุทยานอยู่นอกเมือง พวกพระประยูรญาติรวมทั้งพระเจ้าสุทโธทนะ ได้พากันมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้าที่อารามแห่งนี้
เจ้าศากยะ พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้าที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ ต่างถือองค์ว่าเป็นพระญาติผู้ใหญ่ มีพระชนม์สูงกว่าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นเพียง ๓๖ ปีกว่าๆ เมื่อมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธาราม จึงไม่ถวายอภิวาทบังคม คือไม่ไหว้พระพุทธเจ้า แต่ส่งเจ้าชายเจ้าหญิงศากยะเยาว์วัยกว่าพระพุทธเจ้า ออกไปอยู่แถวหน้า ให้ไหว้พระพุทธเจ้าแทน ส่วนพวกตนอยู่แถวหลังไม่ยอมไหว้
ตำนานปฐมสมโพธิว่า ด้วยเหตุดังกล่าวพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ในอากาศ แล้วโปรยละอองธุลีพระบาทลงเหนือศีรษะของบรรดาเจ้าศากยะ
พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งเสด็จมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น จึงทรงประนมพระหัตถ์อภิวาทพระพุทธเจ้า ฝ่ายพระประยูรญาติทั้งปวงในที่นั้นก็ต่างสิ้นทิฐิมานะ แล้วถวายอภิวาทพระพุทธเจ้าพร้อมกันทั่วทุกองค์
ปฐมสมโพธิว่า “ในทันใดนั่นเอง มหาเมฆใหญ่ได้ตั้งเค้าขึ้นมา แล้วหลั่งสายฝนลงมาห่าใหญ่ ฝนนั้นเรียกว่า ‘โบกขรพรรษ’ มีสีแดง ผู้ใดปรารถนาหรือประสงค์ให้เปียก ย่อมเปียก ไม่ปรารถนาให้เปียก ก็ไม่เปียก โดยเม็ดฝนจะกลิ้งหล่นจากกายเหมือนหยาดน้ำกลิ้งจากใบบัว”
ถอดความก็ว่า พระญาติทุกพระองค์จากกันกับพระพุทธเจ้าเป็นเวลาช้านาน มาได้เห็นกันเข้า ก็ชื่นบาน เหมือนได้รับน้ำฝนชุ่มฉ่ำหฤทัย ฉะนั้น
พระพิมพาพิลาปรำพันถึงพระพุทธองค์ เสด็จพุทธดำเนินไปโปรดถึงในปราสาท
ภาพที่เห็นอยู่นั้น เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด พระนางพิมพายโสธรา ผู้เคยเป็นพระชายา เมื่อสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ คือเมื่อยังไม่ได้เสด็จออกบวช
วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพานี้ เป็นวันเดียวกับที่เสด็จไปทรงภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา สถานที่เสด็จไปโปรดพระนางพิมพา คือ ปราสาทที่ประทับของพระนางนั่งเอง ผู้ที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาในการนี้ มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ผู้สองอัครสาวก และพระเจ้าสุทโธทนะ
พระนางพิมพาทรงเศร้าโศกเสียพระทัย ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชเป็นต้นมา ด้วยเข้าพระทัยว่า พระนางถูกพระพุทธเจ้าทรงทอดทิ้ง ยิ่งเมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์ครั้งนี้ ความเสียพระทัยยิ่งมีมากขึ้น ขนาดพระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระนางยังเสด็จมาไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาถึงปราสาทที่ประทับของพระนางแล้ว พระนางยังเสด็จดำเนินมาเองไม่ได้ เจ้าพนักงานฝ่ายในต้องจูงและประคองมา พอมาถึงที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ พระนางก็ล้มฟุบลง กลิ้งเกลือกพระเศียรลงเหนือพระบาทพระพุทธเจ้า แล้วพิลาปรำพันกันแสงแทบสิ้นสมปฤดี
พระเจ้าสุทโธทนะทูลพระพุทธเจ้าถึงความดีของพระนางพิมพาว่า เป็นสตรีที่จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า ไม่เคยแปรพระทัยเป็นอื่นเลยตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากไป พระพุทธเจ้าตรัสสนองพระดำรัสของพระพุทธบิดาว่า พระนางพิมพาจะได้ทรงซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระองค์แต่เฉพาะในชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในอดีตชาติหนหลังอีกหลายชาติ พระนางก็เป็นคู่ทุกข์คู่ยากผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ตลอดมา แล้วพระพุทธเจ้าตรัสชาดกอีกเป็นอันมากให้พระพุทธบิดา และพระนางพิมพาฟัง
พระนางฟังแล้ว ทรงสร่างโศกและคลายความเสียพระทัย ทรงเกิดปีติโสมนัสในพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง พระนางพิมพายโสธรา ก็ได้ทรงบรรลุพระโสดาบัน หรือโสดาปัตติผล
ทรงมอบสมบัติพระนิพพานแก่พระราหุล โดยให้บรรพชาเป็นสามเณรองค์แรก
ในวันที่ ๗ นับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ เจ้าชายนันทะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้าได้บวชแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะอีก
เจ้าชายนันทะ เป็นรัชทายาทที่สองรองจากพระพุทธเจ้า ที่จะครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ แต่เมื่อนันทะออกบวช หรือที่จริงถูกพระเชษฐา คือพระพุทธเจ้าทรงจับให้บวชเสียแล้ว รัชทายาทจึงตกอยู่แก่ ราหุลกุมาร ผู้เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา
พระนางพิมพายโสธรา พระมารดาของราหุล ทรงเห็นเป็นโอกาสดี เมื่อทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามารับบิณฑบาต จึงแต่งองค์ให้ราหุลผู้โอรสงดงามด้วยเครื่องประดับของขัตติยกุมาร แล้วชี้บอกราหุลว่า “พระสมณะผู้ทรงสง่า มีผิวพรรณเหลืองดั่งทอง มีพระสุรเสียงไพเราะดุจเสียงพรหม ที่พระสงฆ์สองหมื่นรูปแวดล้อมตามเสด็จ นั่นแหละคือพระบิดาของเจ้า”
พระนางพิมพาตรัสบอกพระโอรสให้ไปทูลขอรัชทายาท และทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของพระบิดาทั้งหมด ซึ่งยังมิได้ทรงโอนกรรมสิทธิ์ให้ใครเลย พระนางบอกผู้โอรสว่า ธรรมดาลูกย่อมมีสิทธิที่จะครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เป็นบิดา
ในเวลาที่กล่าวนี้ ปฐมสมโพธิบอกว่า ราหุลกุมารมีพระชนมายุได้ ๗ ปี นับตั้งแต่ประสูติมาไม่เคยเห็นองค์ผู้ทรงเป็นพระบิดา เพิ่งได้เห็นเป็นครั้งแรกก็เมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จยังกรุงกบิลพัสดุ์นี่เอง เมื่อได้เห็นและได้เข้าเฝ้าโดยใกล้ชิด ราหุลจึงเกิดความรักในพระพุทธเจ้ายิ่งนัก เป็นความรักอย่างลูกจะพึงมีต่อพ่อ ราหุลกราบทูลพระพุทธเจ้าประโยคหนึ่ง ซึ่งถ้าจะถอดความให้เข้ากับสำนวนไทยก็ว่า “อยู่ใกล้พ่อนี่มีความสุขเหลือเกิน” แล้วกราบทูลขอรัชทายาท และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของพระราชบิดาตามที่พระมารดาทรงแนะนำ
พระพุทธเจ้าไม่ตรัสว่ากระไร ทรงฉันอาหารบิณฑบาตเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนา แล้วเสด็จกลับไปที่นิโครธารามพร้อมด้วยพระสงฆ์ โดยมีราหุลตามเสด็จเพื่อทูลขอสิ่งที่ทรงประสงค์ดังกล่าวไปด้วย
เมื่อราหุลติดตามพระพุทธเจ้าไปถึงนิโครธาราม เพื่อทูลขอรัชทายาท และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าสิ่งที่ราหุลขอนั้นเป็นสมบัติทางโลกไม่ยั่งยืน เต็มไปด้วยความทุกข์ในการปกปักรักษา ไม่เหมือนอริยทรัพย์ คือ ธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้มา ทรงพระพุทธดำริว่า “จำเราจะให้ทายาทแห่งโลกุตตระแก่ราหุล”
พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระสารีบุตรมา แล้วรับสั่งให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ทำหน้าที่บวชสามเณรให้ราหุล ราหุลจึงเป็นสามเณรองค์แรกในทางพระพุทธศาสนา เมื่ออายุครบบวช ต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุและได้สำเร็จอรหันต์
เมื่อคราวนันทะซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาหมงคล แต่ยังไม่ทันเข้าพิธี เพราะถูกพระพุทธเจ้าจับบวชเสียก่อนนั้น พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ทรงทราบข่าวแล้วเสียพระทัยมาก แต่ไม่สู้กระไรนักเพราะยังทรงเห็นว่าราหุลกุมารรัชทายาทองค์ต่อไปยังมีอยู่ แต่ครั้นทรงทราบว่าราหุลกุมารได้บวชเป็นสามเณรเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัยมากยิ่งกว่าเมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวช และเมื่อนันทะบวช
พระเจ้าสุทโธทนะไม่อาจทรงระงับความทุกข์โทมนัสครั้งนี้ได้ จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธาราม แล้วทูลขอร้องพระพุทธเจ้าว่า ถ้าพระคุณเจ้ารูปใดจะบวชลูกหลานชาวบ้าน ก็ได้โปรดให้พ่อแม่เขาได้อนุญาตให้ก่อน เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้เป็นพ่อแม่มาก ดุจที่พระองค์ได้รับเมื่อราหุลบวชในคราวนี้
พระพุทธเจ้าทรงรับตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงขอร้อง จึงทรงบัญญัติพระวินัยไว้เป็นธรรมเนียมสืบมาจนทุกวันนี้ว่า ถ้าใครจะบวช ไม่ว่าจะบวชเป็นพระหรือบวชเป็นสามเณร ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ผู้ปกครองก่อน ธรรมเนียมกุลบุตรผู้จะบวชที่ถือพานดอกไม้เที่ยวกราบลาพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือทุกวันนี้ จึงเกิดจากกรณีดังกล่าวนี้
ทรงพาพระนันทะไปชมนางฟ้า พระนันทะใคร่จะได้เป็นชายา ทรงรับรองจะให้สมหวัง
หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์แล้ว ได้เสด็จกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารที่ตามเสด็จ ในการนี้พระภิกษุนันทะ พระอนุชาผู้ถูกจับให้บวช และราหุลสามเณรก็ได้ติดตามเสด็จไปด้วย
ต่อมาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวนมากได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ซึ่งเป็นเมืองและแคว้นใหญ่พอๆ กับกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พระนันทะก็ได้ติดตามเสด็จไปด้วย
แต่ตลอดเวลานับตั้งแต่บวชแล้วเป็นต้นมา พระนันทะไม่เป็นอันปฏิบัติกิจของสมณะ ใจให้รุ่มร้อนคิดจะลาสึกอยู่ท่าเดียว เพราะความคิดถึงนางชนบทกัลยาณี เจ้าสาวคู่หมั้นซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์กับตน
ความเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้า ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน แล้วทรงหายจากพระวิหารเชตวัน ไปปรากฏในเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น
ก็สมัยนั้นแล นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ มีเท้าดุจนกพิราบ มาสู่ที่บำรุงของท้าวสักกะจอมเทพ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระนันทะว่า ดูกรนันทะ เธอเห็นนางอัปสร ๕๐๐ เหล่านี้ผู้มีเท้าดุจนกพิราบหรือไม่ ท่านพระนันทะทูลรับว่า เห็น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรนันทะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี หรือนางอัปสร ประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไหนหนอแลมีรูปงามกว่า น่าดูกว่า หรือน่าเลื่อมใสกว่า
น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางลิงผู้มีอวัยวะใหญ่น้อยถูกไฟไหม้ หูและจมูกขาด ฉันใด นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี ก็ฉันนั้นแล เมื่อเทียบกับนางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ย่อมไม่เข้าถึงเพียงหนึ่งเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงส่วนหนึ่งของเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงการเอาเข้าไปเปรียบว่าหญิงนี้เป็นเช่นนั้น ที่แท้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า และน่าเลื่อมใสกว่า พระเจ้าข้า
พ. ยินดีเถิดนันทะ อภิรมย์เถิดนันทะ เราเป็นผู้รับรองเธอเพื่อให้ได้ นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ
น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์เพื่อให้ได้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไซร้ ข้าพระองค์จักยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระเจ้าข้า
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน แล้วทรงหายจากเทวดาชั้นดาวดึงส์ไปปรากฏที่พระวิหารเชตวัน เหมือนบุรุษมีกำลังพึงเหยียด แขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉา ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุแห่งนางอัปสร ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ
ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสหายของท่านพระนันทะ ย่อมร้องเรียกท่านพระนันทะด้วยวาทะว่าเป็นลูกจ้าง และด้วยวาทะว่าผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นลูกจ้าง ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุนางอัปสร ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ
ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทะอึดอัดระอาเกลียดชังด้วยวาทะว่า เป็นลูกจ้าง และด้วยวาทะว่า เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มาของพวกภิกษุผู้เป็นสหาย จึงหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระนันทะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉาทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้ญาณก็ได้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคว่า พระนันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป ท่านพระนันทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์ เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ผู้มีเท้าดุจนกพิราบ ข้าพระองค์ขอปลดเปลื้องพระผู้มีพระภาคจากการรับรองนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทะ แม้เราก็กำหนดรู้ใจของเธอด้วยใจของเราว่า นันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้เทวดาก็ได้บอกเนื้อความนี้แก่เราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉา ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรนันทะ เมื่อใดแล จิตของเธอหลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้นเราพ้นแล้วจากการรับรองนี้
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้แล้ว ย่ำยีหนามคือกามได้แล้ว ภิกษุนั้นบรรลุถึงความสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์
พระพุทธบิดาประชวร เสด็จโปรด กระทั่งสำเร็จพระอรหันต์แล้วนิพพาน
ในปีที่ ๕ นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมา กำหนดเวลานี้ว่าตามปฐมสมโพธิ พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน ใกล้กรุงไพศาลี ได้ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาทรงประชวรหนักด้วยพระโรคชรา ทรงปรารถนาจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ตลอดถึงพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเจ้าศากยะและเป็นพระญาติอีกหลายรูปที่เสด็จออกบวชตามพระพุทธเจ้า เช่น พระอานนท์ พระนันทะ และสามเณรราหุล ผู้เป็นหลาน
พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งพระอานนท์ให้แจ้งข่าวพระสงฆ์ ถึงเรื่องที่พระองค์จะเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์อีกวาระหนึ่ง
ธรรมเนียมการเสด็จจาริกทางไกลของพระพุทธเจ้ามีอยู่อย่างหนึ่งคือ ก่อนเสด็จจะรับสั่งพระสงฆ์ที่อยู่ใกล้ชิดให้บอกข่าวพระสงฆ์ทั้งมวลว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จทางไกล ที่นั่น ที่นี่ เวลานั้น เวลานี้ พระสงฆ์รูปใดจะตามเสด็จก็จะได้เตรียมข้าวของอัฐบริขารไว้พร้อม
การเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้าเพื่อทรงเยี่ยมพุทธบิดาที่กำลังทรงประชวรครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ได้เสด็จเข้าเยี่ยมพุทธบิดาซึ่งมีพระอาการเพียบหนักแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบิดาด้วยเรื่องความเป็นอนิจจังของสังขาร ปฐมสมโพธิบันทึกพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “ดูกรบพิตร อันว่าชีวิตแห่งมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนักดำรงอยู่ โดยพลันบ่มิได้ยั่งยืนอยู่ช้า ครุวนาดุจสายฟ้าแลบอันปรากฏมิได้นาน...”
พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งทรงสำเร็จอนาคามิผลอยู่ก่อนแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ได้สำเร็จอรหันต์ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ หลังจากนั้นอีก ๗ วันก็สิ้นพระชนม์ (ปรินิพพาน)
พระพุทธเจ้าเสด็จสรงน้ำพระศพพุทธบิดา และถวายพระเพลิงพร้อมด้วยพระสงฆ์ พระประยูรญาติ ชาวศากยะทั้งมวลจนเสร็จสิ้น
เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระพุทธมารดา
ภายหลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จสิ้น จนพวกเดียรถีย์ที่มาท้าแข่งพ่ายแพ้ไปแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธดำริถึงจารีตธรรมเนียมของบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนว่า เมื่อทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว เสด็จทรงจำพรรษา ณ ที่ใด ก็ทรงทราบได้ด้วยพุทธญาณว่าทรงจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ปฐมสมโพธิลำดับการเสด็จจำพรรษาของพระพุทธเจ้าไว้ว่า ในพรรษาที่ ๗ (นับแต่ตรัสรู้เป็นต้นมา) ได้เสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ตามนิยายท้องเรื่องทั้งจากปฐมสมโพธิ และข้อเขียนโดยนักเขียนทางศาสนาพุทธอื่นๆ ยุคหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ที่เรียกกันว่า “อรรถกถา” กล่าวตรงกันว่า เหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เพราะทรงต้องการจะแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา คือ พระนางสิริมหามายา ซึ่งเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วเสด็จบังเกิดที่สวรรค์ชั้นดุสิต
พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาที่โคนต้นปาริฉัตร ต้นไม้สวรรค์ มีผู้แปลกันว่าได้แก่ ต้นทองหลาง ผิดถูกอย่างไรไม่ทราบ ภายใต้ต้นไม้สวรรค์นี้มีแท่นแผ่นหิน ปูลาดด้วยผ้ากัมพลสีแดง เรียกว่า “บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์”
พระอินทร์จอมเทพได้ทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงจำพรรษาที่นี้ ก็ทรงป่าวประกาศหมู่เทพยดาในสรวงสวรรค์ให้มาร่วมชุมนุมเพื่อฟังธรรมพระพุทธเจ้า ปฐมสมโพธิว่า เสียงป่าวประกาศของพระอินทร์นั้น ดังปกแผ่ทั่วไปในสกลเทพยธานีทั้งหมื่นโยชน์ เทพเจ้าทั้งปวงได้สดับก็บังเกิดโสมนัสพิศวง ต่างองค์ร้องเรียกซึ่งกันและกันต่อๆ กันไปจนตลอดถึงหมื่นจักรวาล
แม้พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา ซึ่งทรงอยู่ในเพศเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต ก็ได้เสด็จมาฟังธรรมพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาตลอดพรรษา พระพุทธมารดาได้สดับแล้วทรงบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด ส่วนเทพนอกนั้นอีกจำนวนมากได้บรรลุมรรคผลตามสมควรอุปนิสัยแห่งตน
ถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยบันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน
ภาพที่เห็นนั้น เป็นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก คือ จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อภายหลังเสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดังกล่าวเพื่อแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาแล้ว วันที่เสด็จลงคือ วันออกพรรษา เมืองที่เสด็จลงคือเมืองสังกัสนคร เสด็จลงตรงประตูเมือง พระบาทแรกที่ทรงเหยียบพื้นโลกนั้น ต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ระลึกเรียกว่า “อจลเจดีย์” เรียกอย่างไทยเราก็ว่า “รอยพระพุทธบาท” ตามตำนานว่าที่นี่เป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งมีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่
ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จลง เทพเจ้าคือพระอินทร์ได้เนรมิตบันได ๓ บันไดเป็นที่เสด็จลง คือ บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้วมณี บันไดทองสำหรับหมู่เทพลงอยู่ด้านขวา บันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับท้าวมหาพรหม และบันไดแก้วมณีอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธเจ้า หัวบันไดแต่ละอันพาดที่เขาสิเนรุ เชิงบันไดทอดลงยังประตูเมืองสังกัสนคร
หมู่คนทางเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าอย่างที่เห็นในภาพจึงคือ หมู่เทพที่ตามส่งเสด็จ เบื้องซ้ายผู้ถือฉัตรกั้นถวายพระพุทธเจ้าคือ ท้าวมหาพรหม ผู้อุ้มบาตรนำเสด็จพระพุทธเจ้าคือ พระอินทร์ ผู้ถือพิณบรรเลงถัดมาคือ ปัญจสิงขร คนธรรพ์เทพบุตร ถัดมาเบื้องขวาคือ มาตุลีเทพบุตร ซึ่งถือพานดอกไม้ทิพย์โปรยปรายนำทางเสด็จพุทธดำเนิน
พระพุทธเจ้าทรงเป็นวิสุทธิเทพผู้บริสุทธิ์ นักเขียนศาสนาพุทธรุ่นต่อมาจึงถวายพระนามเฉลิมพระเกียรติอย่างหนึ่งว่า “เทวาติเทพ” แปลว่า ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพทุกชั้น เทพต่างๆ ที่คนอินเดียในสมัยนั้นนับถือกัน เช่น พระอินทร์ และท้าวมหาพรหม เป็นต้น
คนผู้นับถือศาสนาพุทธในเมืองไทย ถือกันว่าวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง จึงนิยมทำบุญตักบาตรกันในวันนี้ เพราะถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกการตักบาตรนี้ว่า “ตักบาตรเทโว” ย่อมาจาก “เทโวโรหณะ” แปลว่า ตักบาตรเนื่องในวันคล้ายวันพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกนั่นเอง
เช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเสวยมังสะสุกรอ่อน ที่บ้านนายจุนทะ นับเป็นปัจฉิมบิณฑบาต
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร ได้เสด็จออกจากเขตแขวงเมืองไพศาลีไปโดยลำดับ เพื่อเสด็จไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ทรงกำหนดว่าจะปรินิพพานเป็นแห่งสุดท้าย จนไปถึงเมืองปาวาในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันก่อนเสด็จปรินิพพานเพียงหนึ่งวัน
เสด็จเข้าไปประทับอาศัยที่สวนมะม่วงของ นายจุนทะกัมมารบุตร นายจุนทะเป็นลูกนายช่างทอง ได้ทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารเสด็จมาพักอยู่ที่สวนมะม่วงของตน ก็ออกไปเฝ้าและฟังธรรม ฟังจบแล้ว นายจุนทะกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของตนในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น
เวลาเช้าวันรุ่งขึ้น นายจุนทะได้ถวายอาหารพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ที่บ้านของตน อาหารอย่างหนึ่งที่นายจุนทะปรุงถวายพระพุทธเจ้าในวันนี้มีชื่อว่า “สูกรมัททวะ”
คัมภีร์ศาสนาพุทธชั้นอรรถกถา และมติของเกจิอาจารย์ทั้งหลายยังไม่ลงรอยกันว่า “สูกรมัททวะ” นั้นคืออะไรแน่ บางมติว่าได้แก่ สุกรอ่อน (แปลตามตัว สูกร-สุกร หรือหมู มัททวะ-อ่อน) บางมติว่าได้แก่ เห็นชนิดหนึ่ง และบางมติว่าได้แก่ ชื่ออาหารอันประณีตชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวอินเดียปรุงขึ้นเพื่อถวายแก่ผู้ที่ตนเคารพนับถือที่สุด เช่น เทพเจ้า เป็นต้น เป็นอาหารประณีตชั้นหนึ่งยิ่งกว่าข้าวมธุปายาส
พระพุทธเจ้าตรัสบอกนายจุนทะให้จัดถวายสูกรมัททวะนั้น ถวายแต่เฉพาะพระองค์ ส่วนอาหารอย่างอื่นให้จัดถวายพระสงฆ์ และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงฉันเสร็จแล้ว รับสั่งให้นายจุนทะนำเอาสูกรมัททวะที่เหลือจากที่พระองค์ทรงฉันแล้วไปฝังเสียที่บ่อ เพราะคนอื่นนอกจากพระองค์นั้นฉันแล้ว ร่างกายไม่อาจจะทำให้อาหารนั้นย่อยได้ เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้นายจุนทะฟังเป็นที่ชื่นชม และรื่นเริงในกุศลบุญจริยาของตน แล้วทรงอำลานายจุนทะเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินาราต่อไป
ทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน
ก่อนเสด็จปรินิพพานเล็กน้อย คือภายหลังทรงแสดงธรรมโปรดสุภัททะปริพาชกให้สำเร็จมรรคผลแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสประทานโอวาทพระสงฆ์ โอวาทนั้นเป็นพระพุทธดำรัสสั่งเป็นครั้งสุดท้าย มีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพระสงฆ์ยังใช้ถ้อยคำเรียกขานกันลักลั่นอยู่ คือ คำว่า “อาวุโส” และ “ภันเต” อาวุโสตรงกับภาษาไทยว่า “คุณ” และภัตเตว่า “ท่าน”
พระพุทธเจ้าตรัสสั่งว่า พระที่มีอายุพรรษามากให้เรียกพระบวชภายหลังตน หรือที่อ่อนอายุพรรษากว่าว่า “อาวุโส” หรือ “คุณ” ส่วนพระภิกษุที่อ่อนอายุพรรษา พึงเรียกพระที่แก่อายุพรรษากว่าตนว่า “ภันเต” หรือ “ท่าน”
ครั้นแล้วทรงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทั้งปวงทูลถาม ว่าท่านผู้ใดสงสัยอะไรในเรื่องที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้ว ก็ให้ถามเสีย จะได้ไม่เสียใจเมื่อภายหลังว่าไม่มีโอกาสถาม
ปรากฏตามท้องเรื่องในมหาปรินิพพานสูตรว่า ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้าในข้อสงสัยที่ตนมีอยู่เลย
เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งพระสาวกองค์ใดให้รับตำแหน่งเป็นพระศาสดาปกครองพระสงฆ์สืบต่อจากพระองค์ เหมือนพระศาสดาในศาสนาอื่น เรื่องนี้ก็ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งพระสงฆ์ไว้ชัดเจนก่อนจะปรินิพพานว่า พระภิกษุรูปใดอย่าเข้าใจผิดว่า เมื่อพระองค์ปรินิพานแล้ว ศาสนาพุทธหรือคำสั่งสอนของพระองค์จักไร้พระศาสดา
ตรัสบอกพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่าน สืบแทนเราตถาคตเมื่อเราล่วงไปแล้ว”
ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เราขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตน และคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
หลังจากนั้นไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย จนกระทั่งปรินิพพานในเวลาสุดท้ายของคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันเพ็ญวิสาขะ ณ ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ที่ออกดอกบานสะพรั่งเป็นพุทธบูชานั่นเอง
ที่มา : ภาพและเนื้อหา จากสมุดภาพ ปฐมสมโพธิกถา วรรณคดีพระพุทธศานาพากไทย คัมภีร์แสดงเรื่องราวของพระ พุทธเจ้า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ผู้วาดภาพประกอบ : กฤษณะ สุริยกานต์
- See more at: http://www.visudhidham.com/joomla/th/the-buddha2.html#sthash.vVF2CLeC.dpuf