วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไหว้พระธาตุอีสาน 4เมือง รุ่งเรืองตลอดชีวิต


ไหว้พระธาตุอีสาน 4เมือง รุ่งเรืองตลอดชีวิต


แผ่นดินอีสานกลาง ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคามและกาฬสินธุ์ ถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์มาแต่ครั้งโบราณ ดังคำบอกเล่าที่ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ศิลาจารึก ใบเสมา พระธาตุเจดีย์ ซึ่งมีความเก่าแก่นับพันปี


      “ แผ่นดินอีสานกลาง ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคามและกาฬสินธุ์ ถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์มาแต่ครั้งโบราณกาล ตามตำนานพระอุรังคธาตุ  ตำนานพระเจ้าเหยียบโลก และพงศาวดารเมืองเหนือ ต่างกล่าวถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้เสด็จมาประดิษฐาน  ดังคำบอกเล่าที่ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ศิลาจารึก ใบเสมา พระธาตุเจดีย์ ซึ่งมีความเก่าแก่นับพันปี
     พระบรมสารีริกธาตุและพระอุรังคธาตุ(กระดูกส่วนอก) ถือเป็นตัวแทนแห่งองค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า หากมีโอกาสกราบไหว้บูชาก็จะเกิดอานิสงส์อันประมาณค่ามิได้ ยิ่งหากปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตลอดจนประกอบความดีที่ถึงพร้อม ก็จะส่งผลให้การอธิษฐาน สำเร็จด้วยพุทธานุภาพและพุทธบารมี ความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากการขอพรพระบรมสารีริกธาตุนั้นถือเป็นปัจจัตตังที่พุทธศาสนิกชนจะรู้ได้เฉพาะตน ”
     อาจารย์คฑา ชินบัญชร ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม เขียนไว้ในบทนำของคู่มือ "ไหว้พระธาตุอีสาน 4 เมือง รุ่งเรืองตลอดชีวิต”  ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมนี้เพื่อส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวเชิงศาสนา เชื่อมโยงในระหว่างกลุ่มจังหวัด ร้อย แก่น สาร สินธุ์ (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์) สำหรับกลุ่มตลาดท่องเที่ยวแบบเนิบช้า(Slow Travel) โดยได้เชิญ อ.คฑา ชินบัญชร มาเป็นพรีเซนเตอร์ แนะนำการตั้งจิตอธิษฐานและการบูชาพระธาตุทั้ง 5 แห่ง   ของ 4 เมือง คือ พระมหาธาตุแก่นนคร,พระธาตุขามแก่น, พระธาตุยาคู, พระมหาเจดีย์ชัยมงคล, พระธาตุนาดูน
 เริ่มต้นที่ ... ขอนแก่น

     เส้นทางไหว้พระธาตุทั้ง 4 เมือง 5 แห่ง เริ่มต้นที่ พระมหาธาตุแก่นนคร ภายในวัดหนองแวง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งสร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองของแก่น องค์พระธาตุเป็นศิลปะทวารวดีผสมอินโดจีน สูง 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ใน 4 มุม ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียร พระธาตุแห่งนี้มี 9 ชั้น ชาวบ้านจึงมักเรียก“ พระธาตุ 9 ชั้น ” 

    

     ภายในได้รวบรวมพระธรรมคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ละชั้นทำลวดลายบนบานประตูหน้าต่าง แกะสลักเรื่องราวเป็นภาพชาดก ภาพพุทธประวัติและภาพแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น   ชนบนสุดของพระธาตุเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางบุษบก อีกทั้งยังสามารถชมทัศนียภาพของบึงแก่นนครและเมืองขอนแก่นได้รอบทั้ง 4 ทิศ
     “ ก่อนกราบไหว้บูชาสักการะองค์พระธาตุทุกแห่ง ควรน้อมจิต น้อมใจ ตั้งนะโม 3 จบ และระลึกถึงความดีที่ได้ทำวันนี้และ 5 พระคุณ คือ พระคุณของแผ่นดิน พระคุณของพระมหากษัตริย์   พระคุณของพระศาสนา พระคุณของพ่อแม่ และเทวดาประจำตัวเรา ”  อ.คฑา บอกวิธีก่อนบูชาพระธาตุในทุกครั้งทุกแห่ง

   “ ความเชื่อในอานิสงส์ที่ได้รับจากการนมัสการพระมหาธาตุแก่นนคร พระธาตุ 9 ชั้นคือ "ความก้าวหน้ารุ่งเรือง เปรียบดังบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ”  อ.คฑา กล่าว
      จากพระมหาธาตุแก่นนคร เราจะไปที่ พระธาตุขามแก่น ปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น ตั้งอยู่ที่วัดเจติยภูมิ ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง ลักษณะเป็นเจดีย์ยอดฉัตรทองคำ สูง 19 เมตร พระธาตุขามแก่นมีตำนานเล่าขานกันว่า คณะอันเชิญพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า จากเมืองโมรีย์ (อยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน) นำโดยกษัตริย์เจ้านครโมรีย์ พร้อมด้วยพระอรหันต์ 9 องค์   ได้เดินทางเพื่อนำพระอังคารธาตุไปบรรจุในพระธาตุพนม ซึ่งระหว่างนั้นยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ระหว่างทางได้แวะพักในบริเวณดอนมะขาม อันที่ตั้งของพระธาตุขามแก่นในปัจจุบัน ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือเพียงแก่น และได้นำพระอังคารธาตุไปวางพักไว้บนแก่นมะขามนั้น รุ่งเช้าจึงเดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมต่อไป
  
     เมื่อไปถึงปรากฏว่า พระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงต้องนำพระอังคารธาตุ  กลับตามเส้นทางเดิม โดยตั้งใจว่าจะนำกลับไปยังนครโมรีย์ของตนตามเดิม  เมื่อกลับมาถึงดอนมะขามที่เคยพักแรม ได้เห็นมะขามต้นที่ตายเหลือแต่แก่น กับฟื้นคืนชีวิตแตกใบเขียวชะอุ่ม น่าอัศจรรย์  จึงพร้อมใจกันสร้างพระธาตุครอบต้นมะขามและบรรจุพระอังคารธาตุไว้ภายใน เรียกชื่อว่า “พระธาตุขามแก่น” สร้างวัดเป็นที่พำนักของพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ เคียงคู่องค์พระธาตุ พร้อมสร้างบ้านเรือน ปักถิ่นฐานในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
     อ.คฑา บอกว่า การมาไหว้พระธาตุหรือมาแก้บน ควรมาวันพุธ เพราะจะมี  “เฒ่าจ้ำ หรือ กระจ้ำ”  ซึ่งเป็นเหมือนผู้นำด้านจิตวิญญาณ ทำหน้าที่ด้านพิธีกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน มาเป็นคนนำกล่าวคำนมัสการองค์พระธาตุ และแนะนำเรื่องพิธีการต่าง ๆ ตามแบบแผนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอีกด้วย
    อีกเรื่องที่หลายคนมักไม่รู้เกี่ยวกับ “ พระธาตุน้อย”  ซึ่งอยู่ใกล้กับพระอุโบสถ ว่าเป็นที่บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ คนส่วนใหญ่ที่มาไหว้พระธาตุขามแก่นเสร็จ  แล้วมักเดินทางกลับ โดยไม่ได้มาไหว้พระธาตุน้อย อาจเป็นเพราะไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก ผู้คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้

     อานิสงส์ที่ได้รับเมื่อมาไหว้พระธาตุขามแก่นคือ “ เรื่องร้ายกลายเป็นดี ดุจดังแก่มขามตายแล้วฟื้น โรคภัยที่มี หลีกลี้ห่างหาย “ 

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ... ร้อยเอ็ด

     ตั้งอยู่ที่วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด เป็นองค์พระมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่าง แบบขององค์พระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม             สูง 6 ชั้น ยอดฉัตรทองคำ มีความกว้าง ยาว และสูง อย่างละ 101 เมตร รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็ก 8 ทิศ สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ บนยอดภูเขาเขียว แนวเทือกเขาภูพาน แต่ละชั้นของพระมหาเจดีย์ ถูกตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม ประดิษฐานรูปเหมือนสลักหินทรายของพระคณาจารย์ ปราชญ์อีสานในอดีตและหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโนจำนวน 101 องค์ ชั้นบนสูงสุด เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดเวียนประดับตบแต่งเป็นรูปพญานาค หากไม่มีศรัทธากล้าแข็ง คงขึ้นไปไม่ถึง
   
     ผู้ริเริ่มดำเนินการสร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคลคือ หลวงปู่ศรี มหาวีโร แห่งวัดประชาคมวนาราม(วัดป่ากุง)   ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบุพพาจารย์ใหญ่ ด้านวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงรวบรวมเรื่องราวของครูบาอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน เป็นศูนย์กลางสำหรับไว้ให้พุทธศานิกชนเข้ามาศึกษาหาความรู้ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและสักการะบูชา     สืบไป พระมหาเจดีย์ชัยมงคล จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจและพลังศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา และต่อหลวงปู่ศรีของชาวร้อยเอ็ด ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ซึ่งร่วมใจบริจาคทรัพย์ตามกำลัง  จนเกิดเป็นพระมหาเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ดังที่เห็น
   
     พวกเราได้มีโอกาสมานั่งสวดมนต์บูชา ตั้งจิตอธิษฐานต่อพระบรมสารีริกธาตุ บนชั้นสูงสุด โดยมี อ.คฑา เป็นผู้นำ นับเป็นความสุขใจอย่างยิ่ง ความเชื่อเรื่องอานิสงส์ที่ได้รับเมื่อมาไหว้พระมหาเจดีย์ชัยมงคลคือ “ เสริมมงคลให้ชีวิต ท่วมท้นชัยชนะ ด้วยพุทธานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ”
    

พระธาตุยาคู ... กาฬสินธิ์

    จากจังหวัดร้อยเอ็ด พวกเราเดินทางมาที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธิ์ เพื่อไหว้พระธาตุยาคู เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่พบในเขตเมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองโบราณที่มีการขุดค้นพบหลักฐานต่าง ๆ มากมาย เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ มีหลักฐานว่าแต่ละส่วนของพระธาตุถูกสร้างขึ้นใน 3 สมัย โดยส่วนฐานเป็นรูปสีเหลี่ยมย่อมุม  มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ สร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นส่วนฐานทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิม เป็นรูปแบบเจดีย์สมัยอยุธยา องค์ระฆังและส่วนยอด สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์

   
     ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่ชาวเมืองฟ้าแดดสงยางเคารพนับถือ จึงเรียกกันว่า “ พระธาตุยาคู ” (ญาคู – เป็นภาษาอีสาน หมายถึง พระสงฆ์ผุ้ใหญ่ในวัด)   มีข้อสังเกตตามประวัติว่า เมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดสงยาง แต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์         ทุก ๆ ปีในเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านจะจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อเป็นการขอฝนและนำความร่มเย็นมาสู่หมู่บ้าน
     “ ร่มเย็นเป็นสุข ชีวิตเบิกบาน สมบูรณ์พูนสุข ” เชื่อกันว่าเป็นอานิสงส์ของการได้มาไหว้พระธาตุยาคู

พระธาตุนาดูน ... มหาสารคาม

    พระธาตุแห่งที่ 5 อันเป็นที่หมายสุดท้ายของทริปนี้คือ พระธาตุนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม โดยบริเวณที่ตั้งขององค์พระธาตุนาดูน แต่เดิมเป็นที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา   ราษฎรบ้านนาดูน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2522 มีการขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขนาดเท่ากับเม็ดข้าวสารหักสีขาวขุ่น คล้ายแก้วมุกดา ซึ่งบรรจุอยู่ในผอบซ้อนกันสามชั้น ชั้นในเป็นทองคำ ชั้นกลางเป็นเงิน และชั้นนอกเป็นสำริด รวมถึงพระพุทธรูป พระพิมพ์ลายหลายแบบจำนวนมาก เมื่อกรมศิลปากรมาสำรวจพบว่า บริเวณนี้เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ นครจัมปาศรี ซึ่งมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ตั้งแต่สมัยทวารวดี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-15
    ต่อมาจึงได้สร้างองค์พระธาตุนาดูน ขึ้นในบริเวณที่ขุดพบสถูป องค์พระธาตุมีความสูง 50.50 เมตร ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2530 พื้นที่โดยรอบได้ถูกพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเรียกว่าเป็น “พุทธมณฑลแห่งอีสาน”
รอบองค์พระธาตุจัดแต่งเป็นสวนรุกขชาติ ปลูกต้นไม้ในพุทธประวัติ บริเวณใกล้เคียงยังได้สร้างเป็น พิพิธภัณฑ์นครจัมปาศรี รวบรวมข้อมูล จัดแสดงเรื่องราวของเมืองโบราณนครจัมปาศรี
ตลอดจนความเป็นมาของพระธาตุนาดูน อย่างละเอียด อานิสงส์แห่งการได้มากราบไหว้พระธาตุนาดูน คือ “ เพิ่มพูนบารมี เป็นศูนย์ธรรมแห่งความดี ”

   
     อ.คฑา ได้กล่าวถึงการอธิษฐานจิตและขอพรให้ได้ผลตามหลักคือ ต้องสร้างบารมี ด้วยการทำความดีให้ถึงพร้อม ละเว้นต่อบาป ชำระจิตให้ขาวรอบ สวดมนต์ ไหว้พระ ปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะช่วยส่งเสริมให้พรที่ขอสัมฤทธิ์ผล
     สำหรับโครงการ “ไหว้พระธาตุอีสาน 4 เมือง รุ่งเรืองตลอดชีวิต” ได้จัดให้มีกิจกรรมในลักษณะต่าง ๆ เช่น สิงหาพาแม่เที่ยว, คาราวตามรอบอารยธรรมกราบพระธาตุ ฯ , Photo Workshop เป็นต้น ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่
     การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น โทร. 0 4324 4498 – 9 และwww.tourismthailand.org/khonkaen 

ขอขอบคุณ
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น
- งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
   โทรศัพท์  0 2250 5500 ต่อ 4525 , 4526

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น