วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

วิธีที่ดูแลตัวเอง


รักษาตน ด้วยการเสพธรรมะ
ด้วยการเจริญธรรมะ ด้วยการทำให้มากซึ่งธรรมะ
รักษาผู้อื่น ด้วยการอดทน
ด้วยการไม่เบียดเบียน
ด้วยเมตตาจิต ด้วยความรักใคร่เอ็นดู

มหา. สํ. ๑๙/๒๒๔/๗๕๘.

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

‎ว่าด้วยเรื่องของมาตุคาม‬

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
มาตุคาม ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษโดย ส่วนเดียว องค์ ๕ เป็นไฉน คือ
๑ รูปไม่สวย
๒ ไม่มีโภคสมบัติ
๓ ไม่มีมารยาท
๔ เกียจคร้าน
๕ ไม่ได้บุตรเพื่อเขา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
มาตุคาม ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่ชอบใจของบุรุษโดย ส่วนเดียว องค์ ๕ เป็นไฉน คือ
๑ มีรูปสวย
๒ มีโภคสมบัติ
๓ มีมารยาท
๔ ขยันไม่เกียจคร้าน
๕ ได้บุตรเพื่อเขา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความทุกข์แผนกหนึ่งของมาตุคาม ที่ตนจะต้องเสวย เว้นจากบุรุษ ๕ อย่างนี้ ความทุกข์ ๕ อย่าง เป็นไฉน คือ มาตุคามในโลกนี้
๑ เมื่อยังกำลังสาว ไปสู่สกุลผัว เว้นจากญาติ อันนี้เป็น ความทุกข์ แผนกหนึ่งของมาตุคามข้อต้น ที่ตนจะต้องเสวย เว้นจากบุรุษ ฯ
๒ อีกประการหนึ่ง มาตุคามมีระดู อันนี้เป็น ...ฯลฯ...
๓ อีกประการหนึ่ง มาตุคามมีครรภ์ อันนี้เป็น ...ฯลฯ...
๔ อีกประการหนึ่ง มาตุคามคลอดบุตร อันนี้เป็น ...ฯลฯ...
๕ อีกประการหนึ่ง มาตุคามเข้าถึง ความเป็นหญิงบำเรอของบุรุษ อันนี้เป็นความทุกข์แผนกหนึ่ง ของมาตุคามที่ ๕ ที่ตนจะต้องเสวย เว้นจากบุรุษ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการโดยมาก เมื่อแตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ธรรม ๓ ประการ เป็นไฉน คือ มาตุคามในโลกนี้
๑ เวลาเช้า มีใจอันมลทิน คือ ความตระหนี่กลุ้มรุมแล้ว อยู่ครองเรือน
๒ เวลาเที่ยง มีใจอันความริษยา กลุ้มรุมแล้วอยู่ครองเรือน
๓ เวลาเย็น มีใจอันกามราคะ กลุ้มรุมแล้วอยู่ครองเรือน
ดูกรอนุรุทธะ มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เมื่อแตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ มาตุคามเป็นผู้
๑ ไม่มีศรัทธา
๒ ไม่มีหิริ
๓ ไม่มีโอตตัปปะ
*๔ มักโกรธ
๕ มีปัญญาทราม
*(นัยยอื่น เปลี่ยนข้อที่ ๔ -
- จากมักโกรธ เป็น
๔ มักผูกโกรธ,
๔ มีความริษยา,
๔ มีความตระหนี่,
๔ ประพฤตินอกใจ,
๔ เป็นคนทุศีล,
๔ มีสุตะน้อย,
๔ เกียจคร้าน,
๔ มีสติหลง.
ข้อความนอกจากนี้ เหมือนกันกับ พระสูตรข้างต้นทุกประการ.)
ดูกรอนุรุทธะ มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เมื่อแตกกาย ตายไป
ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ
มาตุคามเป็น
๑ ผู้ฆ่าสัตว์
๒ ลักทรัพย์
๓ ประพฤติผิดในกาม
๔ พูดเท็จ
๕ ดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ดูกรอนุรุทธะ มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เมื่อแตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ มาตุคามเป็น ๑ ผู้มีศรัทธา
๒ มีหิริ
๓ มีโอตตัปปะ
* ๔ ไม่มักโกรธ
๕ มีปัญญา
*(นัยยอื่น เปลี่ยนข้อที่ ๔ -
-จากไม่มักโกรธ เป็น
๔ ไม่ผูกโกรธ
๔ ไม่มีความริษยา
๔ ไม่มีความตระหนี่
๔ ไม่ประพฤตินอกใจ
๔ เป็นคนมีศีล
๔ มีสุตะมาก
๔ ปรารภความเพียร
๔ มีสติตั้งมั่น
ข้อความนอกจากนี้ เหมือนกันกับ พระสูตรข้างต้นทุกประการ.)
ดูกรอนุรุทธะ มาตุคาม ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เมื่อแตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ มาตุคามเป็นผู้งดเว้น
๑ ผู้งดเว้น จากการฆ่าสัตว์
๒ ผู้งดเว้น จากการลักทรัพย์
๓ ผู้งดเว้น จากการประพฤติผิดในกาม
๔ ผู้งดเว้น จากการพูดเท็จ
๕ ผู้งดเว้น จากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของมาตุคาม ๕ ประการนี้
๕ ประการ เป็นไฉน คือ
๑ กำลังคือ รูป
๒ กำลังคือ โภคะ
๓ กำลังคือ ญาติ
๔ กำลังคือ บุตร
๕ กำลังคือ ศีล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคาม ผู้ประกอบด้วยกำลัง ๕ ประการนี้แล * เป็นผู้สามารถอยู่ครองเรือน ฯ
*(นัยยอื่น เปลี่ยนจาก เป็นผู้สามารถอยู่ครองเรือน ฯ เป็น
* ย่อมบังคับสามีอยู่ครองเรือนได้ ฯ
และ * ย่อมประพฤติข่มขี่สามีได้
ข้อความนอกจากนี้ เหมือนกันกับ พระสูตรข้างต้นทุกประการ.)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ส่วนบุรุษ ผู้ประกอบด้วย กำลังอย่างเดียว ย่อมประพฤติ ข่มขี่มาตุคามได้
กำลังอย่างเดียว เป็นไฉน ได้แก่ กำลัง คือความเป็นใหญ่ กำลังคือรูป ย่อมป้องกันมาตุคาม ผู้ถูกบุรุษข่มขี่แล้วได้
กำลังคือโภคะ กำลังคือญาติ กำลังคือบุตร กำลังคือศีล ป้องกันไม่ได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็เมื่อมาตุคาม ประกอบด้วย กำลังคือรูป กำลังคือโภคะ กำลังคือญาติ และกำลังคือบุตร แต่ไม่ประกอบด้วยกำลังคือศีล อย่างนี้ชื่อว่า ยังไม่บริบูรณ์ ด้วยองค์นั้น แต่เมื่อ มาตุคาม ประกอบด้วย กำลังคือรูป กำลังคือโภคะ กำลังคือญาติ กำลังคือบุตร และกำลังคือศีล อย่างนี้ชื่อว่า บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
มาตุคามผู้ประกอบด้วย กำลังคือรูป กำลังคือโภคะ กำลังคือญาติ และกำลังคือบุตร แต่ไม่ประกอบด้วย กำลังคือศีล พวกญาติ ย่อมยังมาตุคามนั้น ให้พินาศ คือไม่ให้อยู่ในสกุล
แต่เมื่อมาตุคาม ประกอบด้วย กำลังคือรูป กำลังคือโภคะ กำลังคือญาติ กำลังคือบุตร และกำลังคือศีล
พวกญาติ ย่อมยังมาตุคามนั้น ให้อยู่ในสกุล ย่อมไม่ให้พินาศ
มาตุคามผู้ประกอบด้วย กำลังคือศีล
แต่ไม่ประกอบด้วย กำลังคือรูป
กำลังคือโภคะ กำลังคือญาติ กำลังคือบุตร พวกญาติ ย่อมยังมาตุคามนั้น ให้อยู่ในสกุล ย่อมไม่ให้พินาศ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามเมื่อแตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เพราะกำลังคือรูปเป็นเหตุ เพราะกำลังคือโภคะเป็นเหตุ เพราะกำลังคือญาติเป็นเหตุ หรือเพราะกำลังคือบุตรเป็นเหตุ หามิได้ แต่ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกำลังคือศีลเป็นเหตุ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของมาตุคาม๕ ประการนี้แล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ฐานะ ๕ ประการนี้ อันมาตุคาม ผู้มิได้ทำบุญไว้ ยากที่จะได้
ฐานะ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ
๑ ขอเราพึงเกิดในสกุลอันสมควร นี้เป็นฐานะข้อที่ ๑ อันมาตุคาม ผู้มิได้ทำบุญไว้ ยากที่จะได้.
๒ ขอเราพึงไปสู่สกุลอันสมควร นี้เป็น ...ฯลฯ...
๓ ขอเราพึงอยู่ครองเรือน ปราศจากหญิงร่วมสามี นี้เป็น ...ฯลฯ...
๔ ขอเราพึงมีบุตร นี้เป็น ...ฯลฯ...
๕ ขอเราประพฤติครอบงำสามี นี้เป็น ฐานะข้อที่ ๕ อันมาตุคาม ผู้มิได้ทำบุญไว้ ยากที่จะได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ฐานะ ๕ ประการนี้ อันมาตุคาม ผู้ทำบุญไว้ ได้โดยง่าย
ฐานะ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑ ขอเราพึงเกิดในสกุลอันสมควร นี้เป็นฐานะข้อที่ ๑ อันมาตุคาม
ผู้ทำบุญไว้ ได้โดยง่าย
๒ ขอเราพึงไปสู่สกุลอันสมควร นี้เป็น ...ฯลฯ...
๓ ขอเราพึงอยู่ครองเรือน ปราศจากหญิงร่วมสามี นี้เป็น ...ฯลฯ...
๔ ขอเราพึงมีบุตร นี้เป็น ...ฯลฯ...
๕ ขอเราพึงประพฤติครอบงำสามี นี้เป็น ฐานะข้อที่ ๕ อันมาตุคาม ผู้ทำบุญไว้ ได้โดยง่าย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้สามารถ อยู่ครองเรือน
ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ มาตุคามเป็นผู้
๑ งดเว้น จากการฆ่าสัตว์
๒ งดเว้น จากการลักทรัพย์
๓ งดเว้น จากการประพฤติผิดในกาม
๔ งดเว้น จากการพูดเท็จ
๕ งดเว้น จากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้ง แห่งความประมาท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวิกา เมื่อเจริญด้วย วัฑฒิธรรม ๕ ประการ ย่อมเจริญด้วย วัฑฒิธรรมอันเป็นอริยะ เป็นผู้ถือเอาสาระ และถือเอา สิ่งประเสริฐของกาย ไว้ได้ วัฑฒิธรรม๕ ประการ เป็นไฉน คือ
อริยสาวิกาย่อมเจริญด้วย
๑ ศรัทธา
๒ ศีล
๓ สุตะ
๔ จาคะ
๕ ปัญญา
* สตรีใดเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา สตรีเช่นนั้น เป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ย่อมถือ สาระของตนในโลกนี้ไว้ได้ ฯ
พระไตรปิฎกไทย(ฉบับหลวง) เล่มที่๑๘ หน้า ๒๕๑-ข้อ ๔๕๘-๔๙๖.

คู่บุพเพสันนิวาส

คู่บุพเพสันนิวาส
*******************

คู่บุพเพสันนิวาส
ภิกษุ ทั้งหลาย. !
ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองพึงหวัง
พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน
และในสัมปรายภพ ทั้งสองเทียว
พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน
มีศีลเสมอกัน
มีจาคะเสมอกัน
มีปัญญาเสมอกัน
ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้
พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ.
ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธา
...รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม
...เจรจาคำที่น่ารักแก่กันและกัน
ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก
มีความผาสุกทั้งสองฝ่าย
...มีศีลเสมอกัน
...รักใคร่กันมาก
...ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
...ทั้งสอง
เป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน
ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์
เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก.
สิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะได้
คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก. ธรรม ๔ ประการ เป็นอย่างไรเล่า คือ :-
ขอโภคทรัพย์จงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรม ประการที่ ๑ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก. เราได้โภคทรัพย์ทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว
ขอยศจงเฟื่องฟูแก่เราพร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย นี้เป็นธรรม ประการที่ ๒ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก. เราได้โภคทรัพย์ทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว
ขอเราจงเป็นอยู่นาน จงรักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็นธรรม ประการที่ ๓ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก. เราได้โภคทรัพย์ทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นานรักษาอายุให้ยั่งยืนแล้ว
เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรม ประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้แล น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ ธรรม ๔ ประการ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการ เป็นอย่างไรเล่า คือ :-
สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา) ๑
สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) ๑
จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค) ๑
ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา) ๑ .
คหบดี ! ก็ สัทธาสัมปทาเป็นอย่างไรเล่า
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า “เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์”. คหบดี ! นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา.
ก็ สีลสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท เป็นผู้เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท. นี้เรียกว่า สีลสัมปทา.
ก็ จาคสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ และการแบ่งปัน. นี้เรียกว่า จาคสัมปทา.
ก็ ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า
บุคคลมีใจอันความโลภอย่างแรงกล้า คือ อภิชฌาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำเมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำและละเลยกิจที่ควรทำเสีย ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข บุคคลมีใจอันพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำ เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำและละเลยกิจที่ควรทำเสีย ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข.
คหบดี ! อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะ (ความโลภอย่างแรงกล้า) เป็นอุปกิเลส (โทษเครื่องเศร้าหมอง) แห่งจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตเสียได้ รู้ว่า พยาบาท (คิดร้าย) ถีนมิทธะ (ความหดหู่ซึมเซา) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต ย่อมละเสียซึ่งสิ่งที่เป็นอุปกิเลสแห่งจิตเหล่านั้น .
คหบดี ! เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่าอภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้ เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่าพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสแห่งจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละสิ่งเหล่านั้นเสียได้ อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้เห็นทาง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา. นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา.
คหบดี !
ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรม ๔ ประการ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๒๓
จตุกฺก. อํ. ๒๑/๖๕/๖๑.